ซื้อขายหุ้นไทย 4 ชั่วโมงครึ่ง..น้อยไปหรือไม่.!?

คำถาม “ช่วงเวลาซื้อขาย” ของตลาดหุ้นไทย มันน้อยเกินไปหรือไม่.!? สำหรับเวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมง 30 นาที เพียงเท่านั้น หากเปรียบกับตลาดหุ้นไทยกับ “ตลาดหุ้นเกิดใหม่” ด้วยกันเอง หรือเทียบ “ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว” ที่ซื้อขายเฉลี่ยวันละ 7 ชั่วโมง


ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้งว่า “ช่วงเวลาซื้อขาย” ของตลาดหุ้นไทย มันน้อยเกินไปหรือไม่.!? เพราะด้วยบริบทตลาดหุ้นไทย เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ..ด้วยจำนวนบริษัทจดทะเบียน 828 บริษัท(SET จำนวน 620 บริษัท และ mai จำนวน 208 บริษัท) ด้วยมาร์เก็ตแคปกว่า 18 ล้านล้านบาท

แต่ว่า..ตลาดหุ้นไทยมีเวลาให้นักลงทุนซื้อขายเพียงแค่ 4 ชั่วโมง 30 นาที เพียงเท่านั้น..!!??

ที่สำคัญด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การเชื่อมโยงกับตลาดหลักๆในต่างประเทศ มีความสำคัญมากยิ่ง ขึ้น ทำให้เวลาการซื้อขายที่จำกัดเพียง 4 ชั่วโมงครึ่ง จึงอาจไม่เพียงพอเหมาะสมและไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของตลาดทุนโลก

นั่นหมายถึง..ทำให้เกิดการเสียโอกาส ทั้งนักลงทุน บริษัทหลักทรัพย์และตลาดหุ้นไทยโดยรวม..!!

หากเปรียบกับตลาดหุ้นไทยกับ“ตลาดหุ้นเกิดใหม่”ด้วยกันเอง ถือว่าเวลาซื้อขายหุ้นไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ชั่วโมง (จีน 4 ชั่วโมง,อินเดีย 6 ชั่วโมง 15 นาที,มาเลเซีย 6 ชั่วโมง,อินโดนีเซีย 4 ชั่วโมง 30 นาที,ฟิลลิปปินส์ 4 ชั่วโมง 30 นาที,เกาหลีใต้ 6 ชั่วโมง,เวียดนาม 4 ชั่วโมง 15 นาที)

เมื่อเทียบ“ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว”ที่ซื้อขายเฉลี่ยวันละ 7 ชั่วโมง นั่นหมายถึงเวลาเทรดหุ้นไทย น้อยกว่าถึง 2 ชั่วโมง 30 นาที(สหรัฐ 6 ชั่วโมง 30 นาที,ญี่ปุ่น 5 ชั่วโมง,ออสเตรเลีย 6 ชั่วโมง,ฮ่องกง 5 ชั่วโมง 30 นาที,สิงคโปร์ 8 ชั่วโมง,อังกฤษ ชั่ว โมง 30 นาที,ฝรั่งเศส 8 ชั่วโมง 30 นาที,เยอรมนี 8 ชั่วโมง 30 นาที)

ก่อนหน้านี้“ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว”มีการพิจารณาขยายระยะเวลาการซื้อขายในตลาดด้วยการขยายเวลาการปิดตลาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ TSE โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนสถาบันต่างๆ โดยหวังการขยายเวลาการซื้อขายในตลาด จะช่วยดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น และเพิ่มความเชื่อมั่นต่อตลาด หลังเผชิญปัญหาระบบซื้อขายล่ม(1 ต.ค.63)

โดย TSE เป็นตลาดหลักทรัพย์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก(จัดอยู่ในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว) แต่มีการซื้อขายเพียง 5 ชั่วโมงต่อวันช่วงเวลา 09.00-15.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) และมีการพักเที่ยง 1 ชั่วโมง ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก(NYSE) มีการซื้อขาย 6 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน และตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LSE) มีการซื้อขาย 8 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน

ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ยอมรับว่า จะมีทบทวนกฎเกณฑ์ และพิจารณาเรื่องเวลาการเปิดและปิดการซื้อขายใน SET และ TFEX ด้วยเนื่องจากสินค้าที่เทรดในตลาดหุ้นไทยเวลานี้ มีความหลากหลายมาก อย่างเช่น DR หรือ DRx ที่อ้างอิงสินทรัพย์ต่างประเทศ

ดังนั้นต้องมาดูว่าต้องปรับเวลาให้สอดคล้องกันหรือไม่รวมถึงสินค้าในตลาด TFEX เช่น Gold Futures ต้องมีการขยายเวลาหรือไม่ รวมถึงการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ 

“ที่ผ่านมาจะเห็นนักลงทุนต่างประเทศ สนใจเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยมากขึ้น (Foreign-linked) รวมถึงนักลงทุนไทยก็มีความต้องการที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงเตรียมขยายเวลาการซื้อขายทั้ง SET, mai และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX)โดยจะทบทวนและดูความเหมาะสมใหม่ เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้สะดวกมากขึ้น 

ส่วนสินค้าในตลาด TFEX เช่น สินค้าที่อ้างอิงตลาดเอเชีย เป็นตลาดที่มีการซื้อขายมากช่วงเช้า อาจพิจารณาขยายระ ยะเวลาการซื้อขายช่วงนั้นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีการขยายเวลายังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม”

โดยแผนทำการศึกษาและทบทวนความเหมาะสมของเวลาการซื้อขาย จะมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมต่อไป..!!?

ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ประกาศแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) เพื่อเตรียมพร้อมขยายการเติบโต ด้วยมีกลยุทธ์ 4 ด้าน ประกอบด้วย.. 

1)ทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย เพิ่มโอกาสการระดมทุน และจะผลักดันให้มีบริษัทหรืออุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น รวมถึงมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้จะมีการพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเค็นดิจิทัล ทั้ง investment token และ utility token ซึ่งจะได้เห็นในช่วงไตรมาส 3/2566 

2)ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม โดยเริ่มใช้ระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ พร้อมยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งปรับ ปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยและให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปและระบบซื้อขายใหม่ 

3)สร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด จะมีพัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace เพิ่มข้อมูลเชิงสังเคราะห์และฟังก์ชั่น ที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน ขณะเดียวกันจะมีการรวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียน ด้านสิ่งแวด ล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล เข้ามาไว้บน ESG Data Platform 

4)ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความยั่งยืน โดยตลาดหลักทรัพย์นำเรื่องของ ESG (Environment, Social และ Governance) มาขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งกระบวนการภายในและภายนอกองค์กร โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อองค์กรที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมและด้านบรรษัทภิบาล

Back to top button