SSF…มรดกบาปตลาดหุ้น.!?
ภาพรวมยุคกอง SSF เม็ดเงินเที่ไหลเข้าช่วงเดือนธ.ค.ในทุกปีเหือดแห้งเหลือไม่ถึง 20,000 ล้านบาท ต่างจากยุคกองทุน LTF เคยสูงถึง 20,000-30,000 ล้านบาท มิหนำซ้ำในเชิงกระตุ้นการออม..ก็ยิ่งดูจะไม่สัมฤทธิ์มากนัก!!
หลังสิ้นสุด LTF จนมาสู่ SSF เริ่มตั้งแต่ปี 2563 ทำตลาดหุ้นไทย “เสียโอกาส” ไปไม่น้อย ทั้งเม็ดเงินที่ไหลเข้าช่วงเดือนธ.ค.ในทุกปี เคยสูงถึง 20,000-30,000 ล้านบาท ในยุคของ LTF แต่มาถึงยุค SSF เม็ดเงินเหือดแห้งเหลือไม่ถึง 20,000 ล้านบาท ในเชิงกระตุ้นการออม..ก็ยิ่งดูจะไม่สัมฤทธิ์มากนัก..การชำระ “มรดกบาป SSF” และนำมาสู่กองทุนรูปแบบใหม่ จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าจะกลับสร้างคณูปการเช่นเดิมได้อย่างไร..!?
หากเป็นไปตามแผนภายในเดือนตุลาคมนี้ ผู้บริหารจากฝากฝั่งตลาดทุน นำทีมโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(เฟทโก้) พร้อมด้วยสมาชิกอีก 7 องค์กร อาทิ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) หรือสมาคมบลจ. ,สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย(ASCO) สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน(IAA) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) จะขอเข้าพบ“นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เป้าหมายการไปครั้งนี้ เพื่อเสนอแนวทางพัฒนาตลาดทุน ตลอดจนการเพิ่มบทลงโทษ และดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบผู้กระทำผิดในตลาดหุ้น
อีกข้อเสนอที่น่าจับตามองก็คือ การเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการออมขึ้นมาใหม่ อาจเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้แตกต่างจากกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว(Super saving fund) หรือ SSF ที่กำลังจะหมดอายุลง
นับตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่ากองทุน SSF ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเชิงกระตุ้นการออมและการลงทุนของภาคประชาชนมากนัก
เห็นได้จากเม็ดเงินจากกองทุน SSF ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)ทั้งหลายที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ(AUM)จากกองทุนประเภทนี้ไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับกองทุนรวมระยะยาว(Long Term Equity Fund)หรือ LTF ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการออมและการลงทุนของภาคประชาชน ที่สิ้นสุดระยะเวลาได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้วตั้งแต่ปี 2562
ในทางหลักการ SSF เป็นกองทุนที่มีจุดประสงค์เพื่อการออมที่มาแทนที่กองทุน LTF จะมีความยืดหยุ่นในการลงทุนมากกว่า เพราะสามารถลงทุนได้ในหลายๆสินทรัพย์ ทั้งในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศฯลฯ จึงสามารถช่วยกระจายความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนจะมีตัวเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น
SSF ขยายเพดานเปิดโอกาสให้ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นักลงทุนที่ซื้อกองทุน SSF นี้ สามารถหักภาษีได้ปีต่อปีนับตั้งแต่ปี 2563-2567
ในทางปฏิบัติกองทุน SSF กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร สาเหตุเนื่องจาก SSF จะต้องถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันซื้อ โดยนับแบบวันชนวันเพราะภาครัฐ ต้องการให้เน้นการออมแบบระยะยาวและต้องการให้ประชาชนเก็บเงินส่วนนี้ไว้ใช้หลังเกษียณ รวมทั้งเพดานที่กำหนดไม่เกิน 2 แสนบาทนี้ ถือเป็นเพดานที่ต่ำ
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ LTF จะเห็นว่าประชาชนสนใจลงทุนในกองทุนลักษณะนี้มากกว่า ทั้งๆที่เน้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทยเท่านั้น การซื้อกองทุน LTF นี้ จะต้องไม่เกิน 15 % ของรายได้ทั้งปีและมีเพดานไม่เกิน 5 แสนบาท
คำตอบสำคัญซึ่งเป็นข้อแตกต่างและเป็นแรงจูงใจให้เกิดความนิยมใน LTF อยู่ที่ ระยะเวลาในการถือครองกองทุนจะสั้นเพียง 7 ปีปฏิทิน โดยนับเป็นปีๆ แม้ว่าจะซื้อกองทุน LTF ช่วงท้ายๆ ของปีนั้นๆ ก็ตาม
ปัจจุบันหากยังต้องการลงทุนในกองทุน LTF ที่มีการจัดตั้งไว้เดิม ก็ยังสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว เพราะปีสุดท้ายที่เปิดให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ คือปี 2562
อย่างไรก็ตามทั้ง SSF และ LTF มีเงื่อนไขที่เป็นข้อเหมือน คือ จะไม่มีการกำหนดวงเงินขั้นต่ำในการซื้อและไม่จำเป็น ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี\
ช่วงที่มีการจัดตั้งกองทุน SSF ขึ้นมาแทนที่กองทุน LTF ใหม่ๆ มีการประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนผ่านบลจ.จากกองทุนนี้จะลดลงไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี จากปกติจะมีเม็ดเงินลงทุน LTF เฉลี่ยอยู่ที่ 34,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นผลลบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะกองทุนประหยัดภาษี ไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินให้ไหลกลับเข้ามาหนุนตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายของปีได้
ในอดีตช่วงโค้งสุดท้ายของปี มักจะเม็ดเงินลงทุนในกองทุน LTF เข้ามาหนุนตลาดหุ้นไทยเสมอ สะท้อนจากสถิติช่วงเดือนธันวาคม ปี 2555-2562 มักเป็นเดือนที่นักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยเฉลี่ย สูงสุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ
โดยข้อมูลเดือนธันวาคม 2559 มีเม็ดเงินไหลเข้า 22,223 ล้านบาท เดือนธันวาคม 2560 มีเงินไหลเข้า 26,698 ล้านบาท เดือนธันวาคม 2561 มีเงินไหลเข้า 22,262 ล้านบาท และเดือนธันวาคม 2562 เงินไหลเข้า 25,335 ล้านบาท
แต่ช่วงเดือนธันวาคม 2 ปีที่แล้ว เริ่มเห็นการขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันราว 18,000 ล้านบาท ในปี 2563 และ 8,600 ล้านบาทในปี 2564 โดยเฉลี่ยจึงถือว่าเดือนธันวาคมของช่วงเวลานั้นจะมีเงินไหลเข้ากองทุน LTF ราว 20,000- 30,000 ล้านบาท
สถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อเป็นกองทุน SSF เนื่องจากเหลือเม็ดเงินการไหลเข้าเดือนธันวาคม ปี 2563 และ ปี 2564 ไม่ถึง 2 พันล้านบาทต่อเดือน เท่านั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากข้อจํากัดสิทธิในการลดหย่อนภาษีของกองทุน SSF ที่มีมากกว่า LTF
ดังนั้นหากภาครัฐต้องการส่งเสริมการออมและการลงทุนภาคประชาชนระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกองทุนลักษณะนี้ใหม่ โดยคาดว่าภายในระยะเวลาอีกไม่ช้านาน ไม่นานนี้จากนี้น่าจะมีอะไรดีๆ ออกมา…รอติดตามกันต่อไป..!!??