“สันติธาร เสถียรไทย” นั่งบอร์ด กนง. เริ่ม 1 พ.ย. นี้!

“คณะกรรมการ ธปท.” คัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงินใหม่ 4 ราย "ไพบูลย์-รพี-รุ่งโรจน์-สันติธาร" มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี เริ่ม 1 พ.ย.66


นางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ เลขานุการคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ประชุมได้คัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ โดยกรรมการใหม่จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ดังนี้

1.นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน (กรรมการชุดเดิม)

2.นายรพี สุจริตกุล (กรรมการชุดเดิม)

3.นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

4.นายสันติธาร เสถียรไทย

สำหรับกรรมการ 2 ใน 4 รายที่หมดวาระไปได้แก่ นายสมชัย จิตสุชน และนายสุภัค ศิวะรักษ์

ทั้งนี้ กนง. จะประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 คน และ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน โดยมีผู้ว่าการเป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของ ธปท. นอกจากนั้น มีรองผู้ว่าการอีก 2 คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คนเป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

1.กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

2.กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

3.กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม  (1) และ (2)

4.ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่กำหนดให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไปภายในเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และ กนง. มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน

ด้านความถี่ในการจัดประชุมประมาณทุก 7-10 สัปดาห์ (ปีละ 6 ครั้ง) กนง. จะประชุมร่วมกันเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม ในการประชุม คณะเลขานุการจะรายงานข้อมูลล่าสุดทั้งด้านการเงิน การคลัง การต่างประเทศ และการผลิต ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบราคาสินค้า อาทิ ราคาน้ำมันโลก นโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ หรือราคาสินค้าเกษตรโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้ กนง. หารือถึงความเป็นไปได้ในการประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

Back to top button