ศูนย์วิจัย KTB มอง “เงินเฟ้อ” ปี 66 เหลือ 1.5% อานิสงส์นโยบายลดค่าครองชีพ
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินอัตราเงินเฟ้อปี 66 อยู่ที่ 1.5% อานิสงส์นโยบายลดค่าไฟ 0.46 บาท/หน่วย รวมถึงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มีผลเดือนก.ย.-ธ.ค. 66 โดยเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยว่า ประเมินอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ลดลง 0.2% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 66 อยู่ที่ 1.5% เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าลง 0.46 บาท/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 ลดลงราว 15% และมีนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค. 66 ซึ่งมาตรการลดราคาพลังงานเหล่านี้จะเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง โดยนับตั้งแต่ต้นปี 65 ภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมาจากราคาพลังงานประมาณ 45% ของภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น จากอุปทานที่ตึงตัวส่งผลให้ภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มติดลบมากขึ้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค. 66 ติดลบสูงถึง 6.5 หมื่นล้าน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อราคาน้ำมันภายในประเทศที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในปี 67 หากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐสิ้นสุดลง นอกจากนี้ความเสี่ยงจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร โดยจะเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อปี 67 มีแนวโน้มเร่งตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย. 66 ขยายตัว 0.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.8% จากหมวดอาหารสดและหมวดพลังงาน โดยราคาอาหารสดหดตัวครั้งแรกในรอบ 22 เดือน ลดลง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาเนื้อสุกรที่ลดลงเนื่องจากปริมาณเนื้อสุกรในระบบเพิ่มขึ้น และราคาผักสดที่ลดลง
รวมถึงราคากลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งขยายตัวเร่งขึ้น 4.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนที่ 2.46%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับหมวดพลังงานขยายตัว 1.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือน ส.ค. 66 ที่ 2.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุเพราะการปรับลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร