STARK มหากาพย์แต่งบัญชีลวงโลก ‘นักลงทุน-กองทุน’ เจ็บหนัก..ตัวการใหญ่ลอยนวล.!?
STARK ไม่สามารถรายงานงบการเงินปี 2565 ตามกำหนดได้ ทำให้พบว่าตัวเลขกำไรของ STARK ช่วงปี 2563-2565 เกิดจากตกแต่งบัญชีและธุรกรรมอำพราง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับหุ้น STARK และสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกู้และหุ้นเพิ่มทุน และความเสียหายใหญ่หลวงครั้งหนึ่งในแวดวงตลาดทุนไทย
ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ถือว่าเป็นหนึ่งหุ้นที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่ปี 2562 หลังเข้าตลาดหุ้นด้วยวิธีการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้อม (Back-door Listing) ผ่านบริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM โดย STARK เป็น Holding Company โดยบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลักคือบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้เป็นผลิตสายไฟและสายเคเบิล สัญชาติอเมริกา รวมถึงมีบริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสายไฟฟ้าตัวนำทองแดงและอลูมิเนียมมาตรฐานระดับสากล และ Thinh Phat Electric Cable Joint Stock Company ผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่ แห่งประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
สำหรับผลประกอบการช่วง 3 ปี (พ.ศ. 2562-2564) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2562 มีรายได้ 11,607.71 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 123.92 ล้านบาท, ปี 2563 มีรายได้ 16,917.68 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,608.66 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 มีรายได้ 27,129.64 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 2,783.11 ล้านบาท ทำให้ STARK เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง จนเป็นที่สนใจของนักลงทุนรายใหญ่ และสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก
เช่นเดียวกับหุ้นกู้ STARK ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ BBB+ โดย “ทริส เรทติ้ง” ทำให้ STARK มีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้มากถึง 9,100 ล้านบาท ด้วยจำนวนผู้ถือหุ้นกู้มากกว่า 4,500 ราย
โดยทำให้กลุ่มบริหารคิดการใหญ่ที่เรียกว่า “แผนล่าปลาวาฬ” นั่นคือมีการเสนอขายหุ้น STRAK จากผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แต่ทว่าแผนขายหุ้นดังกล่าวต้องยุติลง เมื่อบอร์ดบริหารความเสี่ยงไม่เห็นชอบเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากนั้นจึงเบี่ยงเบนไปสู่ “ดีลเบอร์ลิน” นั้นคือการเข้าซื้อ LEONI Kabel GmbH บริษัทผลิตเคเบิลใยแก้ว สัญชาติเยอรมัน มูลค่าการซื้อขายรวม 560 ล้านยูโร หรือกว่า 20,588 ล้านบาท นั่นเห็นให้ STARK เพิ่มทุนแบบฉพาะเจาะจง จำนวน 1,500 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.72 บาท รวมมูลค่า 5,580 ล้านบาท ให้กับกองทุนและนิติบุคคลรวม 12 แห่ง เพื่อเข้าทำรายการดังกล่าว แต่สุดท้าย “ดีลเบอร์ลิน” มันต้องล่มไป..!?
ยิ่งไปกว่านั้นจากกรณี STARK ไม่สามารถรายงานงบการเงินปี 2565 ตามกำหนดได้ ทำให้พบว่าตัวเลขกำไรของ STARK ช่วงปี 2563-2565 เกิดจากตกแต่งบัญชีและธุรกรรมอำพราง..เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับหุ้น STARK และสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกู้และหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว
โดยการแต่งบัญชีปี 2563-2565 เกิดขึ้นภายใต้ผลประโยชน์ของสำคัญ 3 ราย การตกแต่งบัญชีสร้างยอดขายปลอม ต้องมีการนำเงินจากธุรกิจอื่นมาชำระ ด้วยใช้บัญชีของผู้บริหารด้านการเงิน (CFO) เป็นทางผ่าน..พิสูจน์จากการตรวจสอบของ PWC (บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด) ในงบการเงินปี 2565
จากนั้นช่วง เดือนเมษายน 2566 เหตุการณ์เริ่มส่อแววน่าสงสัยมากยิ่งขึ้น เมื่อกรรมการบริหารบริษัท 7 คนพร้อมใจกันลาออก รวมถึงแจ้งเปลี่ยนแปลง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชี พร้อมกับการขอเลื่อนส่งงบการเงินเป็นครั้งที่ 3 (เป็นเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2566) และสุดท้ายวันที่ 26 เมษายน 2566 ทาง STARK ออกมาเปิดเผยว่า หุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด 5 ชุด รวมมูลค่า 9,100 ล้านบาท
โดยเงินเพิ่มทุน PP จำนวน 5,580 ล้านบาท มีการนำมาหมุนจ่ายหนี้ธนาคาร ถือว่าผิดวัตถุประสงค์การเพิ่มทุน ส่วนเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ประมาณ 9,100 ล้านบาท ตามสัญญาต้องชำระค่าหุ้นกู้ให้ธนาคารก่อน ดังนั้นเงินที่ได้จากหุ้นกู้ได้มีการไปชำระธนาคารประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจประมาณ 3,000 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 STARK แจ้งผลประกอบการปี 2565 และปี 2564 ที่ผ่านการตรวจสอบบัญชีใหม่ โดยปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 662 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 5,989 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองการด้อยค่าของทรัพย์สินและเงินลงทุน ผลขาดทุนด้านเครดิต ทั้งจากลูกค้าและเงินให้กู้ยืมระหว่างกันรวมถึงขาดทุนจากสินค้าสูญหาย แม้ปี 2565 จะมีรายได้รวม 25,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,609 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 34.57% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 19,055 ล้านบาท
โดยปี 2564 STARK มีผลขาดทุนสุทธิ 5,989 ล้านบาท จากเดิมแจ้งว่ามีกำไรสุทธิ 2,794 ล้านบาท และมีรายได้ 19,055 ล้านบาท จากเดิมแจ้งว่ามีรายได้ 25,213 ล้านบาท ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นปี 2565 ติดลบ 4,403 ล้านบาท จากปี 2564 ตามบัญชีแก้ไขใหม่ติดลบ 2,844 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงานและการปรับปรุงรายการข้อผิดพลาดแต่ละปี…
ด้วยกระบวนการตกแต่งบัญชีและธุรกรรมอำพรางที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการกล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคลรวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสาร STARK และบริษัทย่อยช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบการเงิน รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) เสนอขายหุ้นกู้ STARK การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง ด้วยมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่า 38,000 ล้านบาท
นั่นคือ 1) บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK 2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) 9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ 10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
โดย DSI มีการออกหมายเรียกบุคคลและนิติบุคคลรวม 10 ราย เข้าให้ปากคำในฐานะ “จำเลย” และพยานบุคคลเพิ่มอีกกว่า 70 ราย มีการคาดการณ์ว่าจะมีการสรุปสำนวนและยื่นฟ้องต่อศาลช่วงเดือน ตุลาคมนี้..
กรณีหุ้น STARK ดังกล่าว ถือเป็นโศกนาฏกรรมทางด้านการลงทุนของตลาดทุน ที่ไม่ได้สร้างความเสียหายเฉพาะ “คนเล่นหุ้น” เพียงเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปยังคนที่ต้องการลงทุนแบบเสี่ยงน้อยและหวังดอกเบี้ยจาก “หุ้นกู้” ที่ผู้ลงทุนมากกว่า 4,500 ราย
นี่ยังไม่นับสถาบันการเงินรายใหญ่ 2 ราย ที่ปล่อยสินเชื่อกว่า 8,600 ล้านบาท และมีภาระผูกพันที่ยังเอาหุ้นกู้ ไปเสนอลูกค้าชั้นดีของตนเองอีก เท่านั้นยังไม่พอ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก STARK ยังลุกลามถึงคนที่เข้าไปซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน ที่หวังออมเงินอีกเป็นจำนวนมาก
ถือเป็นความเสียหายใหญ่หลวงครั้งหนึ่งในแวดวงตลาดทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนที่ได้เข้าลงทุนสินทรัพย์ ประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ STARK ไม่ว่าจะลงทุนประเภท “เสี่ยงมาก” (หุ้นสามัญ) หรือ “เสี่ยงต่ำ” (หุ้นกู้-กองทุน) ก็ตาม..!!!