ส่อง 12 หุ้น รับอานิสงส์เงินเฟ้อ ก.ย. ชะลอตัวเหลือ 0.30%
เปิดรายชื่อ 12 หุ้น อานิสงส์เงินเฟ้อเดือน ก.ย. ชะลอตัวเหลือ 0.30% จาก ส.ค. อยู่ที่ 0.80% รับผลบวกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและค่าครองชีพภาครัฐ ลุ้นไตรมาส 4/66 ชะลอตัวต่อเนื่อง เน้นกลุ่มการเงิน-ค้าปลีก-High Growth ชู TIDLOR, MTC,SAWAD,JMT, CPALL, CPAXT, CRC, CPN,CENTEL,BJC, BE8 และ ADVANC
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดัชนีเงินเฟ้อชะลอตัว จากกรณีกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนก.ย.66 อยู่ 0.30% ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ 0.88% จากผลบวกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและค่าครองชีพของรัฐ และมีแนวโน้มเงินเฟ้อจะชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4/66 โดยกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์มานำเสนอเพื่อพิจารณาลงทุนดังนี้
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์( 6 ต.ค.66) ว่า เงินเฟ้อ CPI ทั่วไป ก.ย.66 อยู่ที่ 0.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาด และลดลงจากเดือน ส.ค. อยู่ที่ 0.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหลักๆมาจากผลบวกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า+ค่าครองชีพของรัฐ โดยมองปัจจัยดังกล่าวเป็นบวกต่อหุ้นที่ได้ผลบวกจากเงินเฟ้อชะลอลงต่ำ และเป็นบวกต่อกำลังซื้อภายในและหุ้นที่อิงบริโภคในประเทศ
โดยเน้นกลุ่มการเงิน บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กลุ่มค้าปลีก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ,บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) CPAXT และกลุ่ม High Growth อาทิ บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ฝ่ายวิจัยฯระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ เผยเงินเฟ้อไทยเดือนก.ย. +0.30% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าตลาดคาดที่ +0.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ +0.88% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ฝ่ายวิจัยฯประเมินเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แม้ราคาพลังงานจะเร่งตัว ขึ้นมาเร็ว แต่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ส่งสัญญาณให้ โอกาสขึ้นดอกเบี้ยควรจบรอบ
โดยมองเป็นผลดีต่อเม็ดเงินไหลเข้า SET Index โดยกรณีที่ฟันโฟลว์ต่างชาติไหลเข้า SET มีแนวต้านปลายปีอยู่ที่ 1,595 จุด แนะนำหุ้นเด่นสุดรับเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัว และได้แรงหนุนจากการชะลอขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกับคาดหวังรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม TIDLOR, MTC, SAWAD, CPAXT, CRC,CPN,CENTEL,BJC และ ADVANC
ด้านกระทรวงพาณิชย์ เผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย.66 อยู่ที่ 108.02 เพิ่มขึ้น 0.30% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.82%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนก.ย.อยู่ที่ 104.38 เพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 9 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.50%
ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การลดลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย.66 เป็นผลจากการลดลงของราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงค่าโดยสารเครื่องบิน
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ตามการลดลงของเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก ผักสด เช่น ผักคะน้า ต้นหอม และพริกสด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเจริญเติบโต ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ น้ำมันพืช และมะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ราคายังคงลดลงต่อเนื่องตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ
“อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร และกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันที่ปรับลดลง” นายพูนพงษ์ ระบุ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 4 ปีนี้ มีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาส 3 จากราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ และเครื่องประกอบอาหารที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมัน) และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง จึงมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว
“กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งจะมีการปรับลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมนับล้านรายการ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี (ต.ค.-ธ.ค.) ซึ่งมาตรการนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงอีก” นายพูนพงษ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก รวมถึงรายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยที่อยู่ในระดับดี รวมทั้งสถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว สินค้าเกษตรในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง อาจเป็นแรงส่งที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวน้อยกว่าที่คาดได้
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ 1.0 – 2.0% (ค่ากลาง 1.5%) มาเป็น 1.0 – 1.7% (ค่ากลาง 1.35%) ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
โดยการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ มาจากสมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้ 1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 66 ขยายตัว 2.5-3% 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปี 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 3.อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปี 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์
นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุด ส.ค.66) พบว่า ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และยังคงต่ำสุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร อิตาลี และเยอรมนี