UBS ชี้รัฐแจก “เงินดิจิทัล” ไม่กระทบเรตติ้งไทย
“ยูบีเอส” มองรัฐบาลแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ไม่กระทบกับเรตติ้งของประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้มีการชำระหนี้ได้ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/66 ถึงครึ่งแรกของปี 67 โดยเฉพาะกลุ่มนอนแบงก์ พร้อมกันนี้ยังมอง 8 หุ้นได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต
บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ UBS ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลเศรษฐา ที่คาดว่าจะเริ่มแจกในไตมาสที่หนึ่งปี 67 จะช่วยรักษาระดับการบริโภคในประเทศให้อยู่ในระดับสูง ทำให้ UBS ปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าจากเดิม 3.1% เป็น 3.6%
ส่วนงบประมาณขาดดุลของปี 67 นั้นคาดว่าจะขยายตัวจาก 3.5% ของ GDP ในปี 66 เป็น 4% ในปี 67 ขณะที่การแจกเงินดิจิทัลนี้จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขั้นแตะระดับ 64% ภายในสิ้นปี 67 จาก 61.7% ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 66
ทั้งนี้ UBS เสนอทางออกอีกหนึ่งวิธีด้วยการเน้นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังกลุ่มผู้มีรายได้ 40% จากระดับล่างของประเทศ (กลุ่มรากหญ้า)
อย่างไรก็ตาม UBS เชื่อว่าไทยจะไม่ถูกลดเครดิตเรตติ้งของประเทศจากการแจกเงินดิจิทัลเนื่องจากอัตราหนี้สาธารณะยังห่างจากเสถียรภาพของหนี้สาธารณะ (Debt Sustainability) อยู่ โดยความคิดเห็นจากบริษัทจัดอันดับล่าสุดบ่งชี้ว่าความเสี่ยงหลักที่จะมีผลต่ออันดับเรตติ้งก็คือทิศทางงบประมาณในระยะกลาง และการเติบโต มากกว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งเดียวจบ
สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ และการแจกเงินดิจิทัลจะช่วยให้มีการชำระหนี้ได้ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/66 ถึงครึ่งแรกของปี 67 โดยเฉพาะกลุ่ม Non Bank ที่จะได้ประโยชน์กว่าธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตามการออกพันธบัตร และการกู้ยืมเงินจากธนาคารมาช่วยผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนการเงินของสถาบันการเงินโดยรวม โดยเฉพาะ Non Bank ที่มี D/E สูงอย่าง MTC และธนาคารรัฐวิสาหกิจอย่าง KTB และสุดท้ายแล้วอาจทำให้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์แย่ลง โดยข้อมูลในอดีตพบว่ากลุ่มค้าปลีกที่มีรายได้ต่ำ และ SME จะได้รับผลกระทบจากความเปราะบางทางนโยบายเศรษฐกิจมากที่สุด
ด้านของพันธบัตรรัฐบาล UBS คาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยจะคงระดับสูงที่ราว 3.25% ในปี 67 ซึ่งคาดว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารประเทศไทย 0.25% อย่างไรก็ตามระดับดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอยู่
ทั้งนี้ UBS มองว่าการเร่งลดภาระค่าครองชีพ และการผลักดันการบริโภคในประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคในได้รายได้ แต่ความกังวลด้านต้นทุนส่งผลให้ UBS เลือกเฉพาะหุ้นที่มีงบดุลแข็งแรง
นอกจากนั้นแล้วยังมองว่ากลุ่มนิคมจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต แนะนำหุ้น ADVANC, BBL, CPALL, CPN, CRC, MINT, HANA และ WHA อย่างไรก็ตามมีมุมมองระมัดระวังในกลุ่มแบงก์จากความกังวลด้านคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงหุ้นอื่น ๆ ที่ไม่แนะนำ ได้แก่ BGRIM, CENTEL, CPAXT, GPSC, KKP, KTB, MTC และ TRUE