แบงก์ชาติ! เตือนรัฐรับมือ “น้ำมัน” พุ่ง หากสงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” ยืดเยื้อ
แบงก์ชาติ! หวั่นสงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” ยืดเยื้อดันราคาน้ำมันพุ่ง แนะรัฐปรับมาตรการสอดรับสถานการณ์จริง พร้อมมองแจก 1 หมื่นบาท หนุนจีดีพีโต 4% ส่วนปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาเฉลี่ย 2% ต่ำกว่าต่างประเทศเพิ่ม 4% ถือว่าสูงกว่าไทยอย่างมาก
วันนี้(11 ต.ค.66) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2566 ถึงสถานการณ์สงครามในประเทศอิสราเอล โดยกลุ่มฮามาสโตมตี ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะขยายวงกว้างและยืดเยื้อ และยังคาดเดาได้ยากว่าจะจบอย่างไร โดยสิ่งที่กังวลคือ น้ำมันอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นสูงสักระยะ
ประกอบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น จากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพลังงานของไทยสูงขึ้น ในช่วงที่ราคาน้ำมันในไทยยังถูกกำหนดด้วยมาตรการของภาครัฐ อาจส่งผลกระทบต่อภาระกองทุนน้ำมันและภาคการคลัง ดังนั้น รัฐอาจต้องพิจารณาปรับมาตรการภายในประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์ด้วย ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม
“ต้องติดตามเรื่องของการปรับมาตรการภายในประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในโลก หากราคาเพิ่มสูงขึ้นจริง ก็ต้องทบทวนเรื่องราคาภายในประเทศด้วย” นายปิติกล่าว
นายปิติกล่าวว่า ทั้งนี้ จากสถานการณ์สงครามประเทศอิสราเอล โดยผลกระทบต่อราคาน้ำมัน กรณีที่สถานการณ์ยังเป็นไปตามปัจจุบัน มองว่าราคาน้ำมันยังอยู่ในวงจำกัดและไม่บานปลาย คาดว่าจะอยู่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันที่ขยับตัวมาจาก 2 ปัจจัย คือสงครามประเทศอิสราเอล แต่มีผลกระทบไม่มาก หากเทียบกับที่ผ่านมา ราคาน้ำมันลดลงมาจากมุมมองเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามราคาน้ำมันจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากมีความยืดเยื้อและใช้เวลานาน
นายปิติ กล่าวว่า ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2567 รวมนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มาเป็นฐานคำนวณจีดีพี แม้ยังมีความไม่ชัดเจนด้านรูปแบบและเวลาในการดำเนินนโยบาย แต่หากรัฐบาลเดินหน้าผลักดันนโยบายนี้ มั่นใจว่าจะทำให้จีดีพีในปี 2567 ขยายตัวมากกว่า 4% และสำหรับตัวทวีคูณจากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล จะสร้างเงินหมุนเวียนในระบบ เมื่ออัดเงินสู่ระบบ 5.6 แสนล้านบาท มองว่าตัวทวีคูณสร้างการหมุนเวียน 0.3-0.6% ตัวอย่าง หากใส่เงินเข้าระบบ 100 บาท จะมีเงินหมุนเวียนเพิ่ม 30-60 บาท ในแง่ตัวจีดีพีจากเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อยู่แล้ว รวมถึงการทำนโยบายการเงินต้องเอื้อเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน
นายปิติ กล่าวว่า ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไทยยังอยู่ในระดับต่ำในโลก นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมา กนง.ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเฉลี่ย 2% นับว่าต่ำกว่าต่างประเทศปรับที่เพิ่ม 4% ซึ่งถือว่าสูงกว่าไทยอย่างมาก ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยระยะปานกลางคาดว่าใน 2 ปีข้างหน้า ดอกเบี้ยไทยอยู่ระดับใกล้สมดุลหรืออยู่ระดับไม่เกินจุดสมดุล
ในส่วนการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายนั้น กนง. จะติดตามใกล้ชิด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายกว่า 60% ใกล้เคียงกับในอดีต โดยธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้รายย่อย (MRR) น้อยกว่ารายใหญ่ (MLR) และการขยายตัวของสินเชื่อยังต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
“สำหรับการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำนโยบายเงินดิจิทัลจะได้ทำหรือไม่ แต่ขึ้นดอกเบี้ยให้สอดรับกับเศรษฐกิจ แม้การทำนโยบายดังกล่าวจะเป็นความเสี่ยงด้านสูง แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่นำมาสู่การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับระดับดอกเบี้ยสู่ 2.50% ได้พิจารณาถึงกรณีที่จะเกิดความเสี่ยงหลากหลายแล้ว” นายปิติ กล่าว
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่จะทำให้ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ซึ่ง กนง.จะพิจารณาถึง 3 ปัจจัย คือ 1.เศรษฐกิจฟื้นตัวอยู่ในศักยภาพ 2.เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% และ 3.เสถียรภาพทางการเงินในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น ต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึงต้องลดดอกเบี้ย ซึ่งเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเกิดขึ้นได้ แต่แนวโน้มยังมีน้อย