ALL ไร้หัว.! “ธนากร ธนวริทธิ์” ทิ้งเก้าอี้ CEO มีผล 12 ต.ค.นี้.!!
บอร์ด ALL แจ้ง "ธนากร ธนวริทธ์" พ้นตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผล 12 ต.ค.นี้ เหตุบริษัทถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 193 ล้านบาท และเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และความโปร่งใส
บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ตามที่คณะกรรมการได้จัดประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 12.30 น ได้มีมติอนุมัติรับทราบการลาออกของ นายธนากร ธนวริทธิ์ จากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO:Chief Executive Officer) และตำแหน่งกรรมการบริษัททุกตำแหน่ง ตามมติและคำแนะนำของคณะกรรมการตรวจสอบ จากกรณีผู้สอบบัญชีรายงานหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 20 เรื่องคดีความและข้อพิพาทที่มีนัยสำคัญ
กรณีที่บริษัทและกรรมการถูกฟ้องร้องจากบริษัทแห่งหนึ่ง และบุคคลธรรมดารายหนึ่ง จากการผิดสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายทุนทรัพย์ 193 ล้านบาท จากการที่กรรมการท่านหนึ่งของบริษัทได้ทำสัญญาลงทุนในปี 2560 ในฐานะบริษัทเพียงผู้เดียว
ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาตามหลักนโยบายการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Policy) เห็นควรให้ นายธนากร ธนวริทธิ์ ยุติบทบาทการเป็นกรรมการจนกว่าเรื่องดังกล่าวจะชัดเจน เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และความโปร่งใส โดยการลาออกดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
อนึ่งก่อนหน้านี้กรรมการบริษัท ALL ได้ทยอยลาออกต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นปีมี 2 ท่าน คือ นายชาตรี ศิริพานิชกร ได้ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริษัท กรรมการตรวจสอบ และประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2566 เป็นต้นไป และนายปรีชา เอื้ออนันตธนกุล ได้ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริษัท และกรรมการตรวจสอบ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ต่อมาในเดือนก.ค.66 นายชาตรี ศิริพานิชกร ได้ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริษัท กรรมการตรวจสอบ และประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2566 เป็นต้นไป และนายปรีชา เอื้ออนันตธนกุล ได้ลาออกจากตำแหน่ง กรรมการบริษัท และกรรมการตรวจสอบ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
สำหรับการลาออกดังกล่าวเป็นผลมาจากบริษัทมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ โดยบริษัทได้รับหนังสือแจ้งจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ขอให้ชำระหนี้โดยพลัน จำนวนรวม 3 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 1 หนังสือที่ ตบธ.1318/2566 ฉบับลงวันที่ 3 ก.ค. 2566 เรื่อง ขอให้ชำระหนี้หุ้นกู้ ALL 235A, ALL 23OA, ALL 242A และ ALL 252A รวม 4 รุ่น รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,483,698,475.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอีก 2% นับแต่วันผิดนัดจนกว่าบริษัทจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566
ฉบับที่ 2 หนังสือที่ ตบธ.1324/2566 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 เรื่อง ขอให้ชำระหนี้หุ้นกู้รุ่น ALL 244A รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 733,237,361.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอีก 9% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าบริษัทจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566 และ ฉบับที่ 3 หนังสือที่ ตบธ.1326/2566 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาศัยขอเรียกให้หุ้นกู้ ALL 22OA และ ALL 232A ทั้งหมดถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน โดยให้บริษัทชำระเงินต้นคงค้างทั้งหมดรวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 198,961,946.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอีก 2% นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าบริษัทจะชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566
อย่างไรก็ตามบริษัทไม่สามารถชำระเงินต้นคงค้าง รวมถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระของหุ้นกู้ทั้ง 7 รุ่นข้างต้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,415,897,783.61 บาท ประกอบด้วย เงินต้น 2,334,200,000 บาท และดอกเบี้ยผิดนัด 81,697,783.61 บาท ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2566 ดังนั้น เมื่อนำมูลหนี้หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระโดยพลัน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 400 ล้านบาท จึงเป็นเหตุให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่นอื่น ๆ ที่เหลือ (Cross Default)
ขณะที่ ALL ได้ระบุแนวทางการแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ว่า บริษัทได้เร่งดำเนินการขายหลักทรัพย์ค้ำประกันหุ้นกู้อีกทั้งจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาชำระหนี้คืนให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยคาดว่าจะสามารถชี้แจงความคืบหน้าในการขายหลักประกัน การจัดหาแหล่งเงินทุนและแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายในเดือน ต.ค. 2566 ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องจับตาแผนเคลียร์หนีหุ้นกู้ 7 รุ่น ดังกล่าวจะออกมาแนวทางอย่างไร