BTS กับแสงสว่างปลายอุโมงค์! จับมือ กทม. เคลียร์หนี้-เปิดวิ่งโมโนเรล 2 สาย
เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง แล้ว BTS จะมีรายได้ทันทีจากการชำระเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างของภาครัฐที่ 2,350 ล้านบาทต่อปี และเมื่อเปิดบริการสายสีชมพูแล้วรวม 2 สายทางจะเพิ่มเป็น 4,700 ล้านบาทต่อปี
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS มีสารพัดเรื่องเข้ามาจากทุกสารทิศ โดยเฉพาะกรณีการทวงหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) มูลหนี้ปัจจุบันรวมแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสถานีสะพานตากสิน-บางหว้า กับอ่อนนุช-แบริ่ง) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล (E&M) รวมกว่า 22,800 ล้านบาท ที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานจนมูลหนี้สะสมพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ
กรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ให้กระทรวงมหาดไทยโดย กทม.ดำเนินการต่อสัญญาติดตั้งระบบไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทาง คือ สายหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช กับสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน และส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2
โดยคำสั่งนี้ทำให้เกิดผลกระทบเป็นโดมิโน่จากการที่ กทม.ไม่สามารถชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 แก่ BTS ได้ เนื่องจากกทม.ได้หยุดชำระตั้งแต่มีการเจรจาเรื่องต่อสัญญาสัมปทานกับ BTS เพราะหากต่อสัญญาเรียบร้อยแล้ว ภาระหนี้จะถูกไปรวมหักลบในสัญญาใหม่ แต่ผ่านมาจนถึงปีปัจจุบัน การต่อสัญญากับ BTS ก็ยังค้างคาและไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ) ยังไม่ยอมพิจารณาว่าจะให้ต่อสัญญาหรือไม่ โดยได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย คือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปัจจุบันถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่)
ขณะที่รัฐมนตรีฝั่งภูมิใจไทย เคยร่วมกัน “ลา” อย่างกะทันหันแบบพร้อมเพรียงกัน 7 คนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ไม่ขอร่วมประชุม ครม. เพื่อประท้วงที่กระทรวงมหาดไทยนำเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุมครม. เรื่องนี้จึงกลายเป็นเผือกร้อนที่เข้า ๆ ออก ๆ ครม.หลายรอบ และสุดท้ายก็เหมือนจะโยนเผือกให้ครม.ชุดต่อไปเข้ามาตัดสินใจแทน
ด้านบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือ BTS ได้ทำการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยยื่นฟ้อง กทม.กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ให้ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 กับส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ค้างจ่ายตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2560-กรกฎาคม 2564 ซึ่งเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กทม. และกรุงเทพธนาคม ร่วมกันรับผิดชอบชำระแก่ BTS เป็นเงิน 11,755.06 ล้านบาท ปัจจุบัน กทม.และกรุงเทพธนาคม อยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้
จากนั้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 BTSC ได้ยื่นฟ้อง กทม., กรุงเทพธนาคมฯ กับพวก ต่อศาลปกครองเป็นครั้งที่ 2 กรณีไม่ชำระค่าจ้างให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ตั้งแต่วันที่ 16กรกฎาคม 2564-22 พฤศจิกายน 2565 เป็นเงิน 10,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากการฟ้องจากครั้งที่ 1 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ
อย่างไรก็ตามปัญหาหนี้มหาศาลกว่า 50,000 ล้านบาท ที่ขมวดปมอยู่ เหมือนจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังจากล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ได้เชิญนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BTS พร้อมผู้บริหารเข้าร่วมหารือแนวทางแก้ปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนค่าจ้าง E&M ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่า กทม.ได้เตรียมตัวในเรื่องนี้อยู่แล้ว
ทั้งนี้จากการหารือ กทม. ได้แจ้งแก่ BTS ว่า จะเร่งดำเนินการใน 2 ขั้นตอน คือ
1.กรณีบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ จ้าง BTSC รับงาน E&M ส่วนต่อขยายที่ 2 ขณะนั้นยังไม่ได้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมสภากทม.ตามขั้นตอน ทางกทม.ก็จะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสภากทม.
2.หากสภากทม.ให้ความเห็นชอบเรื่องการจ้างงาน E&M และต้องชำระเงินให้ BTSC ก็จะต้องใช้เงินสะสมจ่ายขาดมาชำระ ซึ่งกทม.จะเสนอให้สภากทม. เห็นชอบตามขั้นตอนเช่นกัน..
นอกจากนี้กทม.จะดำเนินการพร้อมกันใน 2 ทางคือ 1.เอาเรื่องเข้าสภากทม. เกี่ยวกับการชำระหนี้คาดว่าสมัยการประชุมนี้น่าจะพร้อม เนื่องจากศึกษากันมาพอสมควร 2.ติดตามเร่งรัดทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง โดยจะร้องขอย้ำไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ครม. ช่วยเร่งรัดพิจารณาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ ตามคำสั่ง คสช. ว่าจะพิจารณาต่อหรือไม่ต่อสัญญาเพื่อความชัดเจน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กทม.ยังได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยในหลายประเด็น โดยประเด็นแรกคือต้องการให้รัฐช่วยสนับสนุนงานโครงสร้างพื้นฐานกับค่า E&M เนื่องจากเมื่อครั้งที่ ม.44 มอบหมายให้ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ให้ค่าใช้จ่ายมาด้วย ขณะเดียวกันมูลหนี้ของ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ที่กทม.ส่งไปให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ครม.พิจารณา ซึ่งหากมีการพิจารณาต่อสัญญาตามคำสั่งม.44 หนี้ดังกล่าวก็จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน
ส่วนกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กทม. และ กรุงเทพธนาคม ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้าง O&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 รวมเป็นเงินประมาณ 11,755 ล้านบาท ให้กับ BTSC นั้น กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว ก็ขอให้เป็นตามขั้นตอนของศาล
ขณะที่นายคีรี เปิดเผยว่า การได้พูดคุยกับกทม. ทำให้ BTS มีความสบายใจขึ้นและเริ่มเห็นกรอบเวลาการแก้ปัญหาของ กทม.เพื่อนำไปสู่การชำระหนี้ และถือว่าได้พูดคุยเรื่องนี้เป็นครั้งแรกกับนายชัชชาติ นับแต่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่า กทม. ซึ่งก็ต้องขอบคุณผู้ว่า กทม.ที่จะผลักดันเรื่องเข้าสภา กทม. เพื่อขออนุมัติตามขั้นตอนซึ่งทำให้ BTS มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะมูลหนี้ E&M มีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท ที่ BTS ต้องแบกรับไว้มานานกว่า 4 ปี รวมถึงงาน O&M ที่ยังไม่ได้รับชำระเช่นกันและมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองไปแล้ว ซึ่งเมื่อรวมมูลหนี้ทั้ง E&M และ O&M เป็นเงินรวมกว่า 50,000 ล้านบาทแล้ว
สำหรับความคืบหน้าการฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อขอให้ กทม.และกรุงเทพธนาคม ชำระหนี้งาน O&M นั้น การฟ้องร้องครั้งแรก กทม.ได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว ส่วนการฟ้องร้องครั้งที่ 2 วงเงิน 11,068.50 ล้านบาท ทาง BTS ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ ส่วนหนี้ที่เหลือ และหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการเดินรถ จะมีการดำเนินการตามขบวนการต่อไป
อย่างไรก็ตามงาน O&M นั้น ผูกติดอยู่กับการเจรจาต่อสัญญาสัมปทานตามคำสั่ง ม.44 ของ คสช. ที่ผ่านมาก็มีการเสนอ ครม.หลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจเป็นเพราะมุมมองที่ต่างกัน และตนก็พร้อมรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณาเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีกรณีข้อพิพาทการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 139,127 ล้านบาท ที่ BTSC ทำการฟ้องร้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่า รฟม. ซึ่งมีการยื่นฟ้องทั้งศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รวม ๆ แล้ว 4 คดี อย่างไรก็ตาม คดีข้อพิพาทโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ นั้นปัจจุบันใกล้สิ้นสุดทุกคดีแล้ว โดยศาลพิจารณายกคำร้องเกือบทุกคดี ซึ่งแม้ BTS มิได้เป็นผู้ชนะคดี แต่ก็มิได้มีความเสียหาย หรือต้องชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันตั้งแต่ปีนี้ BTS จะเริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายทางใหม่ 2 สาย คือ สายสีเหลือง ช่วง ลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา คิวต่อไปคือสายสีชมพู ช่วง แคราย-มีนบุรี ที่มีแผนเปิดเดินรถเสมือนจริงช่วงปลายปี 2566 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบภายในเดือน มิถุนายน 2567 โดยทั้ง 2 สายทางเป็นรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว (Mono Rail)
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC และกรรมการ BTS เปิดเผยว่า เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแล้ว BTS จะมีรายได้ทันทีจากการชำระเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างของภาครัฐที่ 2,350 ล้านบาทต่อปี และเมื่อเปิดบริการสายสีชมพูแล้วรวม 2 สายทางจะเพิ่มเป็น 4,700 ล้านบาทต่อปี และประเมินว่าจะมีรายได้จากค่าโดยสารรวม 2 สายทาง อีกประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ปีหน้า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 2 สายทาง คือ สายบางปะอิน–นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่–กาญจนบุรี (M81) จะเริ่มทยอยเปิดให้บริการ ซึ่ง BTS รับงานในส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR (BTS ถือหุ้นสัดส่วน 40%/ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF 40%/บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 10% และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH 10%) ก็จะเริ่มมีรายได้จากค่าจ้าง O&M และเงินอุดหนุนค่าติดตั้งระบบจากรัฐรวม 2 สายทางที่ 1,000 ล้านบาทต่อปี
รวมถึงมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ระยะสัมปทานยาวนาน 50 ปี ที่ BTS เข้าร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้า BBS (บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือหุ้นสัดส่วน 45%/BTS ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น 20%) ซึ่งคาดว่าฝ่ายรัฐน่าจะสามารถออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ได้ประมาณต้นปี 2567 ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา คงทำให้พอได้มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของ BTS ได้ในช่วง 1-2 ปีนี้อย่างแน่นอน