ก.ล.ต.จับมือ “โบรกเกอร์-บลจ.” จัดโครงการ “supervisory stress test” ประจำปี 66
ก.ล.ต. จับมือบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จัดทำโครงการ “supervisory stress test” ประจำปี 2566 เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดทำโครงการ “supervisory stress test” ประจำปี 2566 เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ ทดสอบความแข็งแกร่งในการรองรับความเสี่ยงของบริษัทหลักทรัพย์และกองทุนรวม รวมทั้งจัดทำแผนและคู่มือรองรับความเสี่ยงเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน ซึ่งจัดให้มีพิธีเปิดโครงการเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566
โดยภายในงานได้จัดให้มีการสัมมนารูปแบบการอภิปรายโต๊ะกลม โดยมีผู้แทนจากบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และหน่วยงานวิจัยทางเศรษฐกิจและตลาดทุนจากภาคธนาคาร ร่วมอภิปรายภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนไทย” โดยได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่อาจเกิดขึ้นในตลาดทุน
รวมทั้งแนวทางในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงการทดสอบความแข็งแกร่งในการรองรับความเสี่ยงด้วยการประเมินผลกระทบที่มีต่อเงินกองทุน ของบริษัทหลักทรัพย์และการจัดการกองทุนรวม ภายใต้สถานการณ์จำลองภาวะวิกฤต (stress test) เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทหลักทรัพย์จะมีเงินกองทุนที่เพียงพอรองรับให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และกองทุนรวมจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่อง มีการใช้เครื่องมือบริหารสภาพคล่องเพื่อรักษาเสถียรภาพของกองทุนได้อย่างเหมาะสม โดยจะมีการปรับปรุงแผนและคู่มือรองรับความเสี่ยงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนอีกด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะประสานการทำงานร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจให้เกิดความต่อเนื่อง โดยจะมีการรวบรวมผลการจัดทำ stress test ของผู้ประกอบธุรกิจทุกราย และประเมินความเสี่ยงและจุดเปราะบางของอุตสาหกรรมในภาพรวม รวมทั้งติดตามและให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบธุรกิจในการจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงในรูปแบบของคู่มือปฏิบัติงาน (crisis management playbook) ให้มีประสิทธิภาพและสามารถปฏิบัติได้จริง ตลอดจนจัดให้มีการนำแผนรองรับดังกล่าวมาซักซ้อมร่วมกันในกิจกรรม crisis simulation exercise ที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นของปี 2567 ต่อไป