KSL ผงาดรายได้ปี 68 ทะลุ 2 หมื่นล้าน จ่อบุ๊กขายน้ำตาลโรงงาน “สระแก้ว” เพิ่ม 10%
KSL คาดรายได้ปีนี้แตะ 1.9 หมื่นล้าน อานิสงส์ราคาน้ำตาลสูงกว่าปีก่อน ส่วนปี 68 คาดรายได้โตทะลุ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่โรงงานน้ำตาลใหม่ที่ จ.สระแก้ว คาดแล้วเสร็จช่วงปี 67
บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจทั้งหมด 5 โรง โดยแบ่งสายการผลิตออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก มีกำลังผลิตอ้อยเข้าหีบรวม 1.3 แสนตันต่อวัน มีปริมาณการผลิตเอทานอลรวม 8 แสนลิตรต่อวัน และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 270-280 เมกะวัตต์ (MW)
จากทิศทางการบริโภคน้ำตาลที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในปีนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 25-26 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้หุ้นกลุ่มน้ำตาลได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดย “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ KSL ที่ได้บอกเล่าถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
*รายได้ปีนี้ 1.9 หมื่นล้าน
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปีนี้เชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 19,000 ล้านบาท หรือเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 16,654 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากราคาขายน้ำตาลที่สูงกว่าปีก่อน โดยราคาขายเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ประมาณ 22 – 23 เซนต์ต่อปอนด์ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าเข้ามาช่วยหนุน ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งงวด 9 เดือนของปีนี้ สิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 บริษัทมีรายได้รวม 14,584 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 791 ล้านบาท
โดยในปีนี้ บริษัทฯ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ประมาณ 6.6 ล้านตันอ้อย คิดเป็น 7.03% ของปริมาณอ้อยทั่วประเทศทั้งหมด ซึ่งในปีนี้ได้ขายล่วงหน้าไปหมดแล้ว และอยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับปี 2567
*เสนอรัฐปรับขึ้นราคาน้ำตาล
ล่าสุดเดือนตุลาคม 2566 พบว่าราคาส่งออกน้ำตาลทรายดิบสูงกว่า 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 26-27 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับราคาน้ำตาลในประเทศเฉลี่ย 20 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น จึงเกิดเป็นส่วนต่างที่น่าจูงใจในการส่งออก เพราะหากภาครัฐปล่อยให้ราคาน้ำตาลในประเทศต่ำกว่าส่งออก ก็จะทำให้มีการลักลอบขนน้ำตาลไปยังชายแดนเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเชื่อว่าการปรับขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศให้มีความเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาลักลอบส่งออก ป้องกันการขาดแคลนน้ำตาลในประเทศ และจะส่งผลประโยชน์ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้พิจารณาปรับขึ้นต้นทุนน้ำตาลไปแล้ว ยังเหลือภาคส่วนอื่นๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าราคาพื้นฐานน้ำตาลในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 400-500 เหรียญสหรัฐต่อตัน คาดว่าต่อจากนี้ไปราคาน้ำตาลทรายขาวไม่น่าจะลงต่ำกว่า 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน
“ตอนนี้ยังมีความกังวลการขายน้ำตาลในประเทศ เปิดเป็นตลาดเสรีแล้ว จึงต้องมาคุยกันถึงราคาน้ำตาลที่เหมาะสม ระยะยาวอาจจำเป็นต้องกำหนดกรอบบน-ล่างที่เหมาะสมทั้งกับเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภค หากราคาบิดเบี้ยวเกินไป ปัญหาการลักลอบส่งออกก็จะเกิดขึ้นตลอด ซึ่งราคาอ้อยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 1,300 – 1,400 บาทต่อตัน
*ราคาน้ำตาลปี 67 ยังสูง
ขณะที่ทิศทางฤดูการผลิตปี 2566/67 คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลง จากปีนี้อยู่ที่ 93 ล้านตัน ลดลงเหลือ 74-75 ล้านตันในปี 2567 หรือลดลง 20% จากปีก่อน แต่ในด้านราคาขายน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 25-26 เซนต์ต่อปอนด์ ช่วยทดแทนปริมาณการขายที่ลดลง เบื้องต้นคาดปริมาณการขายของบริษัทในปี 2567 อยู่ที่ 5.3 ล้านตัน ลดลงจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 6.6 ล้านตัน ส่งผลให้ประมาณการณ์รายได้ปี 2567 จะใกล้เคียงกับปี 2566 แม้ปริมาณขายลดลงแต่ได้ราคาขายที่เพิ่มขึ้นเข้ามาทดแทน
*ปี 68 รายได้ทะลุ 2 หมื่นล้าน
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ จ.สระแก้ว ขนาดกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อวัน มูลค่าลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ปัจจุบันได้มีการปรับพื้นที่แล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567 จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 10% มาอยู่ที่ 1.5 แสนตันต่อวัน ดังนั้นภายหลังจากโรงงานน้ำตาลสระแก้วแล้วเสร็จ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20,000 ล้านบาทในปี 2568
โดยแผนลงทุนในปี 2567 ตั้งงบลงทุนรวมไว้ที่ 4,000-4,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับก่อสร้างโรงงานน้ำตาลสระแก้ว ซึ่งในปี 2566 จ่ายไปแล้ว 500 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 จะจ่ายเพิ่มอีก 3,500-4,000 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งจะจ่ายในไตรมาส 1/2568 ด้านงบลงทุนที่เหลือจะใช้สำหรับซ่อมบำรุงโรงงานอื่นๆ ตามแผน
*ผลิตภัณฑ์ใหม่เสริมกำไร
นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาสินค้าและออกผลิตใหม่เพิ่มขึ้น ล่าสุดได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Kane’s (เคนส์) น้ำตาล Low GI ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากข้อตกลงความร่วมมือทางการค้ากับบริษัท นูทริชั่น อินโนเวชั่น จำกัด ในการเข้าถึงสิทธิบัตร Nucane เทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาสารโพลีฟีนอลจากอ้อย ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และเป็นน้ำตาลทรายจากอ้อยธรรมชาติที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) ทำให้ได้น้ำตาล Low GI ภายใต้แบรนด์ Kane’s จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่เพื่อคนรักสุขภาพที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย วางเป้ารายได้จาก Kane’s ปีนี้ไว้ที่ประมาณ 10 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทในปี 2567 ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมองหาโอกาสเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
*ราคาหุ้นถูกสวนผลงาน
สำหรับจุดแข็งของ KSL คือ อุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศ ทั้งนี้ KSL มีโรงงานน้ำตาล 5 แห่ง มีทีมบริหารที่มีความรู้ความเข้าใจ สามารถแชร์กันได้ทั้งด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์ ดังนั้นอยากฝากนักลงทุน ให้ดูผลงานของกลุ่มบริษัทเป็นรายปี เพราะหากดูรายไตรมาส รายได้อาจขึ้นๆ ลงๆ ขณะที่ภาพรวมการบริโภคน้ำตาลของโลกเติบโตขึ้นปีละ 1-2% ต่อเนื่องทุกปี
ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนอาจมีความกังวลว่าผลประกอบการของบริษัทจะขาดทุนหรือไม่นั้น ยืนยันว่ามีโอกาสน้อยมาก ซึ่งในปี 2566-2567 รายได้ยังคงเติบโต มาจากการขายน้ำตาลเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันราคาหุ้น KSL นับว่ายังต่ำมาก เมื่อเทียบกับผลประกอบการที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นนักลงทุนที่สนใจลงทุนระยะกลาง-ยาว เป็นระยะเวลา 1-2 ปี ขอให้มั่นใจผลการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอทุกปี ซึ่งในปี 2565 จ่ายเงินปันผลในอัตรา 10 สตางค์ต่อหุ้น