JMT มั่นใจผลงานปีนี้เข้าเป้า รับซื้อหนี้ดันกำไร! 3 โบรกแนะซื้อสะสม

JMT มั่นใจผลประกอบการปีนี้เป็นไปตามแผน รับอานิสงส์ซื้อหนี้เพิ่มหนุนกำไร ฟาก 3 โบรก “บัวหลวง-ฟินันเซีย-ทรีนีตี้” แนะซื้อสะสม


นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยใน “รายการข่าวหุ้นเจาะตลาด” ออกอากาศผ่านข่าวหุ้นทีวีออนไลน์ว่า อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ในปีนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากครึ่งปีแรก แต่ตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) จากอยู่ที่ 8% และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) จากเดิมอยู่ที่ 7% เนื่องจากมาจากการซื้อหนี้ก้อนใหญ่ช่วงไตรมาส 2/2566 แต่ช่วงครึ่งปีหลังทั้ง ROE และ ROA จะเฉลี่ยที่ระดับ 10-20%

ขณะที่ผลประกอบการ JMT ยังเป็นไปตามแผนปีนี้เป็นปีที่ JMT ซื้อหนี้เข้ามามากที่สุด นับตั้งแต่เปิดกิจการและเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปีนี้ได้ซื้อหนี้สะสมแล้วราว 1 แสนล้านบาท ส่วนบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) เป็นไปตามเป้าหมาย คือซื้อหนี้เข้ามาสะสม 1 แสนล้านบาท การซื้อหนี้เข้ามาสะสมจะส่งผลบวกกับ JMT ในปีนี้และปีหน้า โดยครึ่งปีแรกเติบโตตามเป้าหมาย ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก จึงไม่มีอะไรน่ากังวลใจ

สำหรับการซื้อหนี้เข้ามาส่วนหนึ่งจะไปตัดต้นทุน อีกส่วนหนึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ (รายได้จากการลงทุน) ไม่ใช่การซื้อหนี้มามากแล้วต้องไปตัดต้นทุนเยอะ ทำให้กำไรลดลง มีแต่จะออกมาในทิศทางบวก คือซื้อเข้ามาแล้วรับรู้รายได้เพิ่ม

นอกจากนี้ สถาบันการเงินและนอนแบงก์มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแต่ละสถาบัน โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่เคยซื้อบางชนิดของหนี้รายย่อย ก็มีการเสนอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาส 4/2566 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท (ไม่รวม JK AMC) ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน

นายปิยะ กล่าวอีกว่า กรณีราคาหุ้นลงมาหนักแล้วมีการตั้งคำถามถึงเรื่องดีฟอลต์ (ผิดนัดชำระ), ฟอร์ซเซลล์ (บังคับขายหุ้นในบัญชีมาร์จิ้น) รวมถึงผลประกอบการที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้น เรื่องแรกคือเรื่องดีฟอลต์ ปีนี้บริษัทได้จ่ายหุ้นกู้ครบแล้ว จึงไม่มีความกังวล ขณะที่ปีหน้ามีประมาณ 2,400 ล้านบาท ซึ่งกระแสเงินสดของ JMT ไม่ได้มีปัญหาอะไร เฉพาะการรับเงินสด (Cash Collection) ที่เก็บมาในแต่ละปี ปีนี้คาดว่าน่าจะเก็บได้ 9 พันล้านบาท

ส่วนเรื่องผลประกอบการ มีการซื้อหนี้ต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก และเป็นไปตามเป้าหมาย สุดท้ายเรื่องฟอร์ซเซลล์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการของ JMT จึงไม่อยากให้นักลงทุนกังวลเรื่องนี้ ทั้งนี้ JMT จะมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณางบการเงินวันที่ 9 พ.ย.66 นี้ และแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในลำดับต่อไป

“ทุกอย่างทาง JMT สามารถชี้แจงได้ เพียงแต่ยังไม่ได้มีการปิดงบและตัวเลขทางบัญชี เมื่อถึงเวลา JMT จะสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น”

นายปิยะ กล่าวว่า การดำเนินงานของ JK AMC จนถึงปัจจุบันเหนือความคาดหมาย มองว่า KBANK และ JMT ได้รับความร่วมมือที่ดีทั้ง 2 ฝ่าย และมีการส่งหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกคาดว่าปีนี้การส่งพอร์ตนายหน้าจะมาสัก 7-8 หมื่นล้านบาท แต่เข้ามาก่อนกำหนดที่ 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้ JK AMC ได้รับผลกำไรล้อไปกับพอร์ตที่ส่งมา

สำหรับภาวะหนี้สินที่อาจจะย่ำแย่ลงนั้น ต้องบอกว่าบริษัทผ่านวิกฤตในลักษณะนี้มาตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ถือว่าผ่านวิกฤตมาค่อนข้างมาก แต่ทุกครั้งที่ซื้อหนี้เข้ามาบริษัทได้ใส่แวลูเอชันในเรื่องความเสี่ยงเข้าไป ในการรับรู้รายได้อยู่แล้ว รวมถึงต้นทุนทางการเงินด้วย ดังนั้นในช่วงที่มีวิกฤต บริษัทจะลดในเรื่องของยอดเก็บลงมา ก็ทำให้ราคาที่เข้าไปซื้อสถาบันการเงินจะต่ำลงมา เรียกได้ว่าผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจ

โดยสภาวะเศรษฐกิจทำให้หนี้ที่มาขายมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อย ที่เป็นเป้าหมายของ JMT ในการเข้าไปซื้อ ต้องยอมรับว่าหนี้เสียที่เกาะติดตัวเลขได้ จะเห็นว่า NPL สูงขึ้น หนี้ที่เอามาขายในตลาดมีมากขึ้น ที่เป็นห่วงกันขณะนี้คือ JMT เคยพิสูจน์ให้เห็นว่าในช่วงเศรษฐกิจดีก็เก็บเงินได้ดี แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีก็ซื้อหนี้เข้ามาตุนได้มาก ดังนั้นภาพรวมคือ NPL สูง โอกาสในการเข้าไปซื้อหนี้มีมาก โอกาสในการเก็บ บริษัทก็พยายามช่วยเหลือลูกค้าในการให้ส่วนลด หรือเจรจาประนอมหนี้ จึงไม่ได้กระทบกับ JMT แต่จะเป็นผลเชิงบวกว่าจะมีหนี้มาขายในตลาดมากขึ้น

ขณะที่มีความกังวลในเรื่องของดิจิทัลวอลเว็ตว่าจะมีผลกับ JMT นั้น มองว่าไม่มีผลเชิงลบกับธุรกิจของ JMT แต่จะมีผลเชิงบวกมากว่า เพราะเงินที่อยู่ในกระเป๋าของลูกค้า JMT ต้องทำแคมเปญเพื่อชักจูงลูกค้า ส่วนในเรื่องของดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นเรื่องที่ JMT ได้ใส่แวลูเอชันเข้าไปในหนี้ที่ซื้อแต่ละกองแล้ว ดังนั้นมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะแย่ลง แต่จะเป็นผลบวกสำหรับธุรกิจทวงหนี้

ส่วนประเด็นที่นักวิเคราะห์มีการปรับลดประมาณการราคาเป้าหมายลง คงไม่สามารถบอกอะไรได้ ต้องขึ้นอยู่กับนักวิเคราะห์แต่ละท่าน แต่มั่นใจว่าตลาดขายหนี้และโอกาสการเก็บหนี้ของ JMT ไม่ได้มองว่าจะถอยหลัง แต่มองว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือประมาณ 20-30% ดังนั้นราคาที่สะท้อนออกมาจึงขึ้นอยู่กับนักวิเคราะห์ที่จะมอง

บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด ระบุว่า ราคาหุ้น JMT ปรับลดลงแรงจากความกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจะกดดันแนวโน้มกำไรไตรมาส 3/2566 อย่างไรก็ตามประเมินว่าแนวโน้มกำไรไตรมาส 3/2566 จะเติบโตได้ทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเทียบไตรมาสที่ผ่านมา จากแนวโน้มธุรกิจบริหารหนี้เติบโต (ปริมาณหนี้ที่ซื้อมาในครึ่ปีแรกเริ่มทยอยเก็บได้บ้างแล้ว) และส่วนแบ่งกำไรจาก JK AMC ยังดีต่อเนื่อง ด้านมูลค่าหุ้นราคาปรับฐาน จนมี PER ปี 2567 ที่ 18 เท่า เทียบกับแนวโน้มการเติบโตกำไรปี 2567-2568 เฉลี่ยที่ 20% หรือคิดเป็น PEG ratio ที่ 0.9 เท่า (ค่าเฉลี่ย PEG ย้อนหลังอยู่ที่ 1.2 เท่า) จึงแนะนำทยอยสะสมได้

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด แนะนำ “ซื้อ” JMT ราคาเป้าหมาย 60 บาท โดยแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังคาดว่ายังมีแนวโน้มเชิงบวก โดยคาดกำไรปกติปี 2566 ที่ 2.2 พันล้านบาท เติบโต 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณหนี้ที่ซื้อมาเป็นจำนวนมากในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งจะส่งผลบวกมากขึ้นในช่วงครี่งปีหลัง ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยคาดว่าจะฟื้นตัวในปี 2567

ขณะที่ คาดว่ากำไรปกติปี 2567-2568 ที่ 2.7 พันล้านบาท เติบโต 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3.3 พันล้านบาท เติบโต 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ด้านฐานะทางการเงินยังอยู่ในระดับที่ดีและสัดส่วนหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำยังสะท้อนศักยภาพในการซื้อหนี้ได้อีกเป็นจำนวนมาก

บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้ราคาเป้าหมาย JMT ใหม่ที่ 47 บาท โดยราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมาสะท้อนภาพเชิงลบไประดับหนึ่งแล้ว หากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาคครัวเรือน คาดว่าราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้ดีอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ คาดว่ากำไรไตรมาส 3/2566 ที่ 500 ล้านบาท อ่อนตัว 9% จากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังเติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดยอดจัดเก็บทรงตัวจากไตรมาส 2/2566 โดยการจัดเก็บจากลูกหนี้เดิมอาจชะลอตัวลงจากภาพเศรษฐกิจ แต่มียอดจัดเก็บจากหนี้ใหม่เข้ามาช่วยชดเชย ด้านสำรองหนี้อาจเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ทั้งนี้หากกำไรไตรมาส 3/2566 ออกมาตามคาด จะทำให้กำไรงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 เติบโต 20% จากปีก่อน ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/2566 จะกลับมาเติบโตจากไตรมาสที่ผ่านมาได้ จากไฮซีซั่นของธุรกิจ บวกกับ ECL อาจลดลง

บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด มีปรับลดประมาณการการจัดเก็บหนี้ของ JMT ลง 3% ในปีนี้ และ 5% ในปีหน้า จากความกังวลด้านความสามารถในการใช้หนี้อันเนื่องมาจากผลกระทบทางอ้อมจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นในไทย และมาตรการพักชำระหนี้ รวมไปถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

ขณะที่ การจัดเก็บหนี้ของ JMT (ไม่นับรวม JK) คาดว่าจะออกมาแย่ โดยอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ช่วงไตรมาส 3/2566 ลดลง 4% เทียบปีที่ผ่านมา (YoY) และลดลง 13% เทียบไตรมาสก่อน (QoQ) โดยจะเห็นการเติบโตเพียง 2% เทียบปีที่ผ่านมา ช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 ทั้งนี้การจัดเก็บหนี้ที่ลดลงจะนำไปสู่การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 0.27% ในปี 2566 และ 0.80% ในปี 2567

แม้ว่าบล.ภัทรจะมองว่า JMT มีความเสี่ยงต่ำในด้านผิดนัดชำระหนี้ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.4 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 2 (หุ้นกู้ที่ต้องชำระซีรีส์สุดท้ายนั้นครบกำหนดในเดือน ก.ย.) อย่างไรก็ตาม KKPS มีความกังวลที่เพิ่มขึ้นในด้านต้นทุนการรีไฟแนนซ์ของ JMT นอกจากนั้นแล้วบริษัทยังมีแผนที่จะออกหุ้นกู้อีกถึง 3 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดภายใน 3 ปี โดยมีอัตราผลตอบแทน 4.75-4.90% ซึ่งสูงกว่าหุ้นกู้ชุดก่อนที่ครบกำหนดไปเมื่อเดือนที่แล้วถึง 0.75-0.90% โดย KKPS มองว่าต้นทุนหนี้ของ JMT จะเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปีนี้ เป็น 4.2% ในปี 2567 และ 5.3% ในปี 2568

ขณะเดียวกัน มีการปรับลดกำไร JMT สำหรับปี 2566-2568 ลง 10%, 14% และ 9% ตามลำดับ ส่วนตัวเลขกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2566-2567 คาดอยู่ที่ 13% และ 19% ตามลำดับ โดยเทียบกับ 19% ปี 2565 และการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของปี 2560-2565 ที่ 17% ซึ่งจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ JMT คาดไว้ว่าจะโต 30% ต่อปี

จากการเติบโตที่ไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับปีก่อนของ JMT รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของ ROE (8.7% ปี 2566, 10.0% ปี 2567 และ 12.4% ปี 2568) จึงจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกลดมูลค่าลง โดยมีการปรับลด P/BV ลงจาก 4.0 เท่า เป็น 2.0 เท่า ต่ำกว่าค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเฉลี่ยของ JMT ในปี 2555-2565

พร้อมปรับลดราคาเป้าหมายจากเดิม 68 บาท เป็น 33 บาท และลดระดับลงมาสู่ Underperform กำไรระยะสั้นไตรมาส 3/2566 คาดว่าจะอ่อนแอ อยู่ที่ 485 ล้านบาท (เติบโต 6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 12% เทียบไตรมาสที่ผ่านมา) จากการเก็บหนี้น้อยลง แม้จะมีการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในมูลค่าที่สูงเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่สองก็ตาม

นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง รวมถึงเศรษฐกิจระดับมหภาคในไตรมาส 3 ที่ช้าลง และการหดตัวของกำไรไตรมาส 3/2566 เทียบไตรมาสที่ผ่านมา นั้นผิดไปจากเทรนด์การเติบโตก่อน ๆ ของบริษัท

Back to top button