“ธนูลักษณ์” จ่อออกหุ้นกู้ 300 ล้าน ดอกเบี้ย 6.10% ขายสถาบัน-รายใหญ่ 24-26 ต.ค.นี้
"ธนูลักษณ์ หรือ TNL” ในเครือสหพัฒน์ฯ เตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 300 ล้านบาท ชูดอกเบี้ย 6.10% จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ขายสถาบัน-รายใหญ่ 24-26 ต.ค.นี้ มั่นใจได้รับการตอบรับดีจากนักลงทุน หลังพันธมิตรบีทีเอสฯเข้าร่วมทุนเดินหน้ารุกธุรกิจการเงิน
นางสาวสุธิดา จงเจนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNL เปิดเผยว่า “ธนูลักษณ์” ในเครือสหพัฒน์ฯเตรียมระดมทุนโดยออกและเสนอขายหุ้นกู้อายุ 2 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 6.10% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 ประเภทหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ โดยเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่วงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยมีหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มจำนวนไม่เกิน 200 ล้านบาท รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาการเสนอขายระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2566
สำหรับวัตถุประสงค์การเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการขยายพอร์ตสินเชื่อ และ/หรือ ใช้ในการจัดหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย จำนวน 400-500 ล้านบาท และ/หรือ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวนไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้
น.ส.สุธิดากล่าวว่า มั่นใจว่าหุ้นกู้ของบริษัทจะได้รับความสนใจจองซื้อจากนักลงทุน ทั้งนี้ ภายหลังจากปลายปี 2565 ที่ผ่านมา TNL ได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยการปรับโครงสร้างองค์กร และปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยเพิ่มทุนขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมและขายให้บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (หรือ BTSG) พันธมิตรทางกลยุทธ์ของบริษัทเข้ามาถือหุ้น ทำให้บริษัทมีฐานทุนรวมกันเกินกว่าหมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อเพิ่มเครื่องยนต์หรือ New Engines มาเสริมทัพธุรกิจเดิมให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยรุกขยายเข้าไปทำ 3 ธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่มีหลักประกัน (Secured Lending) และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) โดยซื้อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีหลักประกันจากสถาบันการเงินมาบริหารจัดการ นอกจากนี้ยังลงทุนในบริษัทร่วมทุน (JV) เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย (Real Estate for Sale) ขณะที่ยังคงดำเนินธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่เดิม
“ทีมผู้บริหารมั่นใจว่า การเพิ่ม 3 Engines ใหม่ จะสามารถสร้าง Synergy ภายในกลุ่มบริษัทได้ และเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งการที่บริษัทมีธุรกิจ Asset Financing ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันหลัก และมีธุรกิจ AMC ที่เน้นสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน รวมถึงการมี Engine ของการพัฒนา Real Estate for Sale ทำให้เรามี Network และความรู้เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างดี จะเป็นจุดแข็งและ Synergy ที่สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับบริษัทในระยะยาวได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา” น.ส.สุธิดากล่าว
สำหรับงวด 6 เดือนแรกปี 2566 TNL มีรายได้รวม 1,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 187 ล้านบาท หรือ 435% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยหลักๆ มีรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่ด้านธุรกิจบริการทางการเงิน และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตรากำไร (Net Profit Margin) ที่สูง ทั้งนี้ หลังการปรับโครงสร้างบริษัท TNL มีส่วนของผู้ถือหุ้น ณ 30 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 10,288 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ต่ำเพียง 0.18 เท่า