MILL จับมือ GULF เซ็น 2 โรงไฟฟ้าขยะ “กฟภ.” กำลังผลิต 16 เมกฯ

MILL ส่งบ.ย่อย “เวสท์เทคฯ” จับมือ “ซันเทค อินโนเวชั่น” บริษัทย่อยกลุ่ม GULF ลุยธุรกิจพลังงานทดแทน ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับกฟภ. โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ขนาดกำลังผลิต 16 เมกะวัตต์


นายทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวสท์เทค เอ็กโพเนนเชียล จำกัด หรือ WTX หนึ่งในธุรกิจของบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL ซึ่งดำเนินธุรกิจรีไซเคิลและบริหารจัดการกากขยะอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า บริษัทพาวเวอร์ วัตต์ 1 จำกัด และบริษัท พาวเวอร์ วัตต์ 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของเวสท์เทคฯ กับบริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์  ซึ่งเป็นบริษัทย่อย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,500-3600 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการทั้งสองมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 69 และมีความสามารถในการกำจัดขยะได้โครงการละประมาณ 200-250 ตันต่อวัน

นอกจากนี้ นายทวันทว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทที่ร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท โดยตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทชั้นนำธุรกิจรีไซเคิลอย่างครบวงจร ในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม จากขยะอุตสาหกรรม ตามหลัก Zero waste

โดยใช้นวัตกรรมและเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพขั้นสูง ในการคัดแยกวัสดุมีค่า อาทิเช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม หรือพลาสติกชิ้นใหญ่  ก่อนส่งต่อเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น เหล็กจะถูกขายให้แก่โรงงานหลอมเหล็ก เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์เหล็กในรูปแบบต่างๆ ส่วนวัสดุอื่นๆ  ก็จะมีการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมให้เป็นเชื้อเพลิงแข็ง ป้อนให้กับโรงงานไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทเวสท์เทค เอ็กโพเนนเชียล จำกัด ถือเป็นผู้นำด้านการรีไซเคิลทำลายซากรถยนต์เก่าแบบครบวงจร ด้วยกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลของบริษัทได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพในการคัดแยกวัสดุ ก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการหลอม เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ถือเป็นนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

 

Back to top button