ก.ล.ต. ปรับเกณฑ์อัตราส่วนกองทุน เพิ่มยืดหยุ่น-เน้นประโยชน์ มีผลบังคับ 16 ต.ค.67
ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์พิจารณาและแนวทางการดำเนินการกรณีกองทุนมีอัตราส่วนการลงทุนผิดจากเกณฑ์ที่กำหนด เพิ่มความยืดหยุ่นบริหารจัดการลงทุน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.67 รวมทั้งยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ โดยให้การลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนทั่วไปเช่นเดียวกับทรัพย์สินประเภทอื่น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.66
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาและแนวทางการดำเนินการกรณีกองทุนมีอัตราส่วนการลงทุนผิดจากเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการลงทุน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2567 รวมทั้งยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ โดยให้การลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนทั่วไปเช่นเดียวกับทรัพย์สินประเภทอื่น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการลงทุนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่บริษัทจัดการ และยกระดับให้สอดคล้องกับสากล รวมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ โดย ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศดังกล่าวเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 ซึ่งผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วย
ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน จำนวน 2 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) การปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาและแนวทางการดำเนินการกรณีผิดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน โดยเพิ่มเติมกรณีที่บริษัทจัดการไม่สามารถดำรงอัตราส่วนการลงทุนได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทจัดการ (passive breach) จะไม่ถือว่าบริษัทจัดการมีการกระทำผิดเกณฑ์ เช่น มูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่าปกติ ผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนมากกว่าปกติ หรือตราสารที่กองทุนลงทุนถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นต้น จากเดิมที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นการกระทำของบริษัทจัดการ (active breach) และเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดเกณฑ์
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงแนวทางการดำเนินการของบริษัทจัดการในกรณีที่เกิด passive breach โดยให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่หากบริษัทจัดการใช้ดุลพินิจที่จะไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี รวมทั้งต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการแก้ไขอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง จนกว่าจะแก้ไขได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2567
(2) การปรับปรุงหลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit) ของกองทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่นิติบุคคลตามกฎหมายไทยเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนทั่วไปเช่นเดียวกับทรัพย์สินประเภทอื่น เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามผู้ออกทรัพย์สินหรือคู่สัญญา (single entity limit) เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญารายใดรายหนึ่ง และหลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามกลุ่มกิจการ (group limit) เพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุนกระจุกตัวในบริษัทที่อยู่ในกลุ่มกิจการเดียวกัน เป็นต้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566