“ทศพร” ร้อง ก.ล.ต. ถูกบีบลาออกเก้าอี้ “ประธานบอร์ด PTT” ขัดข้อบังคับ
PTT เดือด! ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ร้องเรียน ก.ล.ต. ถูกบีบพ้นตำแหน่งประธานบอร์ด ขัดข้อบังคับ หลังมีกระแสข่าวผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองต้องการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการ และกรรมการ ปตท. ชุดใหม่ เพื่อให้งานสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงาน (18 ต.ค.66) เกิดกระแสข่าวว่าจากกรณีที่การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่มีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงปตท. ทดแทนตำแหน่งเดิมที่จะเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นั้น
อย่างไรก็ดี ปรากฎว่าที่ประชุมได้ถอนวาระดังกล่าวออกไปโดยไม่มีกำหนด ท่ามกลางกระแสข่าวผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองต้องการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการ และกรรมการ ปตท. ชุดใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่มีเป้าหมายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ต่อกรณีดังกล่าวนั้น ล่าสุด นายทศพร ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เรื่อง การตีความข้อบังคับของ PTT อย่างเคร่งครัด โดยมีข้อความระบุว่า ตามสำเนาบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ถึงประธานกรรมการ PTT อาจมีปัญหากรณีการตีความข้อบังคับของบริษัทผิดไปจากที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัดอาจทำให้การกระทำต่างๆ ที่เกิดจากการตีความข้อบังคับที่ผิดกฎหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต่อเนื่อง ดังนี้
ข้อบังคับ ปตท. ข้อ 34 “นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฉบับนี้ ประธานกรรมการ หรือ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย, ลาออก, ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกตามข้อ 30, ขาดการประชุมคณะกรรมการเกินสาม 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร, ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือในข้อบังคับนี้ และศาลมีคำสั่งให้ออก
ข้อบังคับ ปตท. ข้อ 32 วรรค 3 “ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และถ้าเห็นสมควรจะเลือกตั้งกรรมการอีกคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นรองประธานกรรมการก็ได้”
ข้อ 1 ข้อบังคับของ ปตท. ข้อ 34 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประธานกรรมการหรือกรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อพ้นตามวาระตาย, ลาออก, ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกตามข้อ 30, ขาดการประชุมคณะกรรมการเกินสาม 3 ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร, ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือในข้อบังคับนี้ และศาลมีคำสั่งให้ออก
ดังนั้น จะต้องตีความหรือแปลความให้ตรงตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด จะตีความหรือแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้
ข้อ 2 ข้อบังคับของ ปตท. ข้อ 34 ดังกล่าว บัญญัติไว้ในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของประธานโดยเฉพาะ ไม่ได้ขัดหรือแย้งกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนและกฎหมายว่าหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ข้อบังคับของ ปตท. ข้อ 34 ดังกล่าว ไม่ได้ขัดหรือแย้งข้อบังกับข้อที่ 32 เนื่องจากข้อบังคับข้อที่ 32 เป็นวิธีการการเข้าสู่ตำแหน่งประธานกรรมการ การจะเลือกประธานกรรมการได้จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับข้อที่ 34 อย่างเคร่งครัด
ข้อ 4 ข้อบังคับของ ปตท. ข้อ 34 ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน นอกจากไม่ได้ขัดแล้วยังช่วยส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ไม่ให้ถูกแทรกแซงได้โดยง่าย
ข้อ 5 ที่สำคัญข้อบังคับของ ปตท. ข้อที่ 34 ณ ปัจจุบันยังใช้บังคับอยู่ ยังมิได้ถูกยกเลิก หรือ มีกฎหมายใดมาใช้บังคับแทนที่ ดังนั้นจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ข้อ 6 หากมีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการโดยพลการ โดยที่ประธานกรรมการไม่ครบวาระตามข้อบังคับข้อที่ 34 เป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับ เจตนาปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างชัดเจน ผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้นอาจร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้
นายทศพร ระบุว่า โดยหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้โปรดนำเรื่องและประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กลต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ และมีคำสั่งให้ PTTปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวอย่างเคร่งครัด หรือมีคำสั่งอื่นใด เพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลมาจากการจงใจตีความข้อบังคับผิดไปจากลายลักษณ์อักษรต่อไป
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงใน ปตท. เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค. 66) จะมีการประชุมบอร์ด ปตท. ซึ่งคาดการณ์น่าจะมีการพูดคุยในประเด็นดังกล่าว รวมถึงการปรับเปลี่ยนบอร์ดบริหาร ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปกติทางการเมืองที่จะมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อให้การทำงานเกิดความสอดคล้องกัน