“เจพีมอร์แกน” คัด 11 หุ้นท็อปพิก รับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ-กลุ่มสุขภาพโต
“เจพีมอร์แกน” แนะนำ 11 หุ้นท็อปพิก รับมาตรการภาครัฐกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และยอดขายธุรกิจรายย่อยฟื้น รวมถึงธุรกิจกลุ่มสุขภาพพุ่ง 1.9% พร้อมประเมิน GDP ไทยในปี 67 อยู่ที่ 3.1%
เจพี มอร์แกน หรือ J.P. Morgan ระบุว่า แรงกดดันจากเงินทุนต่างชาติไหลออก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า รวมถึงช่วงโลว์ซีซั่นสำหรับนักท่องเที่ยว และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปรับตัวลดลง 10% ในเวลา 6 เดือน
ทั้งนี้ การปรับตัวโดยเน้นหุ้น Defensive ของเหล่ากองทุนช่วยให้รักษาเงินทุนไว้ได้ และอยู่เหนือกว่าตลาดในช่วง 1-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาส 4/2566 คาดการณ์ว่าจะมีแรงต้านที่เพิ่มขึ้นสำหรับตลาดหุ้นไทย และ EM เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ยอมอ่อนแรงลง รวมถึงผลกระทบจากอุปทานน้ำมัน บอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น และความกังวลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามเจพีมอร์แกน เชื่อว่าไทยจะสามารถรับมือกับแรงต้านนี้ได้ โดยมี 1) ภาพรวมจากจีนที่อยู่ในระดับคงที่ 2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 3) ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีขึ้นไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2567 นอกจากนั้นแล้ว วัฎจักรขาขึ้นของราคาน้ำมันจะช่วยดันกลุ่มพลังงานในไทยได้ รวมถึงแนวโน้มที่จะปรับคาดการณ์กำไรขึ้นด้วยจากราคาน้ำมัน และค่าการกลั่นที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ผู้บริหารกองทุนในไทยปรับลดการจัดสรรเงินสดในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ 9.3% โดยยังเน้นหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง หุ้นกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) ที่เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 1.9% ขณะที่กองทุนลดการลงทุนเพียงเล็กน้อยในกลุ่มอสังหาฯ, กลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม (ICT/Telco)
สำหรับการลงทุนหุ้นรายตัว กองทุนในประเทศลดการถือครองใน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA
ขณะที่กองทุนในประเทศเพิ่มการถือครองใน บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ซึ่งเจพีมอร์แกน ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มที่กองทุนมีมุมมองเชิงบวกนั้นมีพัฒนาการที่ดีกว่าดัชนี SET ในเดือนกันยายน โดยส่วนมากเป็นกลุ่ม Defensive เช่น หุ้นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) , กลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม (ICT/Telco) , กลุ่มสุขภาพ (Healthcare) และกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation)
ส่วนการไหลออกของเงินทุนต่างชาติยังคงดำเนินต่อไป โดยประเทศไทยพบเงินทุนต่างชาติสุทธิที่ไหลออกแล้ว 616 ล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันที่ทุนไหลออก เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ส่วนเงินทุนไหลเข้าในกลุ่มธนาคารในเดือนสิงหาคมนั้นมีเทรนด์กลับกันในเดือนกันยายน จากการเทขายหุ้น SCB และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK
นอกจากนั้นแล้วยังเห็นเงินทุนที่ไหลออกหลักๆในหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC
ขณะเดียวกัน เจพีมอร์แกนยังปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีของจีนในไตรมาส 3/2566 ขึ้นเป็น 5.3% จากเดิม 4.1% ของไตรมาสก่อนหน้า และไตรมาส 4/2566 ขึ้นเป็น 4.9% จากเดิม 4.5% ของไตรมาสก่อนหน้า ส่วนข้อมูลในช่วงวันหยุดชาติจีนชี้ให้เห็นถึงจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายังไทย นอกจากนั้นแล้วฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีนยังช่วยผลักดันทราฟฟิกจากจีนให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วยเช่นกัน ซึ่งสายการบิน Thai Airways รายงานว่าเที่ยวบินจากจีนนั้นเต็มถึง 90%
สำหรับการเติบโตในไตรมาสแรกของปี 2567 นั้นมีแนวโน้มที่ดีจากนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตของภาครัฐ ซึ่งถูกวางโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และยอดขายของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งมองว่าจะช่วยผลักดันจีดีพีได้ราว 1.5-2% ในปี 2567 ส่วน Real GDP นั้นคาดจะอยู่ที่ 3.1% เทียบกับธนาคารแห่งประเทศไทยคาดไว้ที่ 4.4% ซึ่งจะอยู่สูงกว่าการเติบโตของ GDP โลกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2561
ทั้งนี้ เจพีมอร์แกน แนะนำหุ้นท็อปพิก 11 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC,
รวมถึง บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT