“รฟม.” แจงรถไฟฟ้า “ส้ม-น้ำตาล-ม่วงใต้” แผนลงทุนคืบ! ศึกษานโยบาย 20 บาทตลอดสายเพิ่ม
“รฟม.” แจงความคืบหน้าแผนลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม-สายสีน้ำตาล-สายสีม่วงใต้ พร้อมศึกษานโยบาย 20 บาทตลอดสายเพิ่ม พร้อมเร่งเปิดบริการ “สายชมพู” คาดทดสอบการเดินรถเสมือนจริงธ.ค.นี้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รฟม. มีแผนการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า 3 โครงการ ได้แก่
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนุนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุน โดยรฟม.ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ครบถ้วนแล้ว และสรุปเสนอกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว แต่เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นให้รอผลคำการพิพากษากรณีมีข้อผิดพลาดให้เสร็จสิ้นกระบวนการเรียบร้อยก่อน
โดยปัจจุบัน ข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องคดี กับ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุน ฯ ปี 2562 และรฟม. 3 คดีนั้น ศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินพิพากษายกฟ้องแล้ว 2 คดี คงเหลือ 1 คดี คือเรื่อง เปิดประมูลคัดเลือกรอบใหม่ TOR กีดกัน ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้วอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์ ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่าศาลจะพิพากษาชี้ขาดเมื่อใด โดยคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
ทั้งนี้ กรณีสายสีส้มด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 100% แล้วจำเป็นต้องเร่งรัดในส่วนของการเดินรถซึ่งมีแนวทาง เช่น เจรจากับผู้รับสัญญาเดินรถ ให้เร่งดำเนินวางระบบและผลิตตัวรถ เหลือภายใน 24 เดือนได้หรือไม่ เพื่อเปิดเดินรถด้านตะวันออกโดยเร็วที่สุด
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ยกระดับตลอดเส้นทาง มีระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร มูลค่าลงทุนรวม 41,720 ล้านบาท ซึ่งสรุปรายงานผลการศึกษาแล้วโดยกระทรวงคมนาคมมีความเห็นให้ ศึกษาเรื่องอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายนโยบายรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์แผนการเงิน ประกอบการเสนอโครงการ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับรายได้ของโครงการและเงื่อนไขที่รัฐต้องอุดหนุนค่าลงทุนงานโยธากับเอกชนด้วย โดยผลการศึกษาเดิมกำหนดอัตราค่าโดยสารตามมาตรฐานการศึกษาปกติเริ่มต้น 15 บาท สูงสุดที่ 45 บาท
ขณะที่นายภคพงศ์ กล่าวว่า กรณีศึกษาใช้อัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะศึกษาตัวเลขอุดหนุนค่างานโยธากับเอกชน มากกว่าเดิม คาดการณ์ใช้เวลาศึกษาอีกประมาณ 2 เดือนสามารถสรุปได้ภายในเดือนธันวาคม 2566 เพื่อนำเสนอบอร์ดรฟม.พิจารณา จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อ เสนอครม. ในเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือสีม่วงใต้ รูปแบบ PPP ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดเพื่อจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) จัดหาเอกชนบริหารเดินรถไฟฟ้า โดยจะศึกษาเรื่องอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายนโยบายรัฐบาลเพิ่มเติม และคาดการณ์ว่าจะศึกษาแล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะต้องเสนอกระทรวงคมนาคม ในเดือนมกราคม 2567 และเสนอคณะกรรมการ PPP และครม.ตามขั้นตอนเอกชนร่วมลงทุนรัฐฯต่อไป
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย รฟม. ว่า ได้ดูเรื่องผลประกอบการและแผนงานลงทุนโครงการต่างๆ โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการเป็นไปตามแผนงาน และให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในกรอบเวลาที่ชัดเจน พร้อมทั้งเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (MRT สายสีชมพู) ให้เร็วขึ้น (จากแผนเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2567) โดยรฟม. คาดว่าจะสามารถให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run)ในเดือนธันวาคม 2566 โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นจะสามารถเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์เก็บค่าโดยสารได้ช่วงต้นปี 2567
สำหรับกรณี การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนุนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่ง รฟม. ยืนยันว่าได้ดำเนินการคัดเลือกตามกระบวนการตามพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง, ระเบียบพัสดุและ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 อย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว ดังนั้นต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองว่าจะตัดสินอย่างไร ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ส่วนประเด็นทางการเมืองหรือข้อวิจารณ์กรณีส่วนต่างตัวเลขผลตอบแทนต่างๆนั้น ที่เกิดขึ้นตามสื่อต่างๆ สำหรับตนเองนั้นยังไม่มีรายละเอียดเอกสาร กรณีปัญหาของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้งนี้หากมีคำพิพากษาตัดสินออกมาอย่างไรขั้นตอนต่อไปคือการนำเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอน
“เรื่องนโยบายของรัฐบาล เรื่อง รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น แบ่งโครงการรถไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นของรัฐซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีคือสายสีแดงและสายสีม่วง ส่วนกลุ่มที่เป็นสัมปทานร่วมลงทุนจะต้องมีการเจรจาจัดทำข้อตกลงร่วมกับร่วมกันซึ่งนโยบายจะพยายามดำเนินการภายใน 2 ปี” นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่ม
ทั้งนี้ รฟม. จึงต้องติดตามประเมินความคุ้มค่าด้านจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มมาในระบบเปรียบเทียบกับรายได้ หลังจากดำเนินมาตรการลดค่าโดยสารของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) แล้ว และในระยะต่อไป กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จึงร่วมกับ รฟม. เพื่อศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐในอนาคต ควบคู่กับการจัดทำแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้เพิ่มเติม
“สายสีม่วง จุดคุ้มทุนจะต้องมีผู้โดยสาร 1.5 แสนคนต่อวัน แต่ปัจจุบันมี 7 หมื่นคนต่อวัน ส่วนกรณี 20 บาท อย่ากังวลเรื่องชดเชย เนื่องจากนโยบายมุ่งเน้นการจูงใจผู้ใช้บริการเพิ่ม รอช่วงโรงเรียนเปิดเทอม และนักท่องเที่ยวเพิ่ม จะช่วยให้ผู้โดยสารเพิ่ม และการชดเชยจะลดลง” นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย