“ขันเงิน ไทยเทเนี่ยม” รีแบรนด์ MPIC พลิกโฉม “ซาเล็คต้า” มุ่งธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนท์
MPIC รีแบรนด์เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บริษัท ซาเล็คต้า จำกัด (มหาชน) หรือ ZAA” วางเป้าหมายชัดเจนที่จะยกระดับสู่ธุรกิจเอนเทอร์เทนเมนต์แนวใหม่ แนวสร้างสรรค์ เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลกที่กำลังมาแรง ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิงให้ครอบคลุมมากขึ้น
สร้างกระแสข่าวฮือฮาให้กับตลาดหุ้นไทยไม่น้อย เมื่อ “ขันเงิน เนื้อนวล” แรปเปอร์ชื่อดังในนามวงไทยเทเนี่ยม หรือที่คนวงการดนตรีเรียกขานกันว่า “ขันเงิน ไทยเทเนี่ยม” ได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนรวม 650 ล้านบาท เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC จำนวน 1,202,130,480 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 92.46% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 0.54 บาท จากบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 และซื้อขายหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ซึ่งภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จ “ขันเงิน ไทยเทเนี่ยม” ขึ้นแท่นเป็นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1 แทน MAJOR ถือหุ้นทั้งหมด 1,202,130,480 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 92.46% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังได้มีสัญญาแปลงหนี้ใหม่ ระหว่างนายชินวัฒน์ อัศวโภคี กับขันเงิน ไทยเทเนี่ยม และนายขันเงินได้มีการโอนขายหุ้น MPIC จำนวน 45 ล้านหุ้น ให้กับนายธนเศรษฐ์ พจน์เกษมสิน ในราคาหุ้นละ 0.54 บาท
ต่อมา นายขันเงิน เนื้อนวล มีความประสงค์ขอเสนอซื้อหุ้น MPIC ที่เหลือทั้งหมดจำนวน 120,488,696 หุ้น หรือ 9.27% โดยได้ยื่นแบบคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หุ้น MPIC เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ซึ่งได้แต่งตั้งให้บริษัท ออพท์เอเชีย แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้จัดเตรียมคำเสนอซื้อ และมีบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เป็นเวลาทั้งสิ้น 25 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ถึง 13 กรกฎาคม 2566 ในราคาหุ้นละ 1.50 บาท ใช้เงินทุน 214.48 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดแสดงเจตนาขายหุ้น MPIC เลย
มุ่งสู่ธุรกิจเอนเทอร์เทนเมนต์แนวใหม่
ขันเงิน ไทยเทเนี่ยม ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การที่ตัดสินใจเข้ามาลงทุน MPIC เพราะมองเห็นโอกาสในการสร้างความเติบโตจากธุรกิจ และสิ่งที่เคยทำอยู่ให้เติบโตได้มากกว่าเดิม รวมทั้งพร้อมที่จะจับมือพันธมิตรทุก ๆ ราย เพื่อต่อยอดธุรกิจในด้านต่าง ๆ ให้เติบโตแบบคูณ 2 ไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ได้มองแค่เรื่องหุ้น แต่มองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ถ่ายทอดไอเดีย และเข้ามาทำงานให้สำเร็จ จากประสบการณ์การทำธุรกิจเกี่ยวกับเอนเทอร์เทนเมนต์มานานกว่า 23 ปี ทำวงไทยเทเนี่ยม ทำธุรกิจเกี่ยวกับวงการเพลง รายการทีวี และธุรกิจเครื่องดื่ม POWER และถือหุ้นหลายบริษัท ทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด 4 กันยายน, บริษัท ไทยเทเนี่ยม พับลิชชิ่ง, บริษัท ไทยเทเนี่ยม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด, บริษัท บีเจ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ไทยเทเนี่ยม เบฟเวอเรจ จำกัด
โดยมีเป้าหมายชัดเจนที่จะยกระดับธุรกิจของ MPIC สู่ธุรกิจเอนเทอร์เทนเมนต์แนวใหม่ แนวสร้างสรรค์ เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลกที่กำลังมาแรง ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิงให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การจัดงาน การจัด Event ไม่ว่าจะเป็นงานเพลง หรือ Concert ต่าง ๆ ทั้งศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติ เพื่อให้ MPIC เป็นบริษัทบันเทิงที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมในหลากหลายมิติ ซึ่งการเข้ามาซื้อกิจการของขันเงิน ไทยเทเนี่ยม ระบุว่าเป็นการใช้เงินทุนส่วนตัวและเป็นการกู้บางส่วนจากกองทุนสิงคโปร์ เป็นเงินกู้ระยะยาว พร้อมยืนยันว่าเขาไม่ใช่นอมินีของใคร
ขณะที่ ธุรกิจเดิมของ MPIC ที่ดำเนินธุรกิจลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านภาพยนตร์ โดยผ่านทางบริษัทย่อยต่าง ๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ และธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทยเพื่อจัดจำหน่ายผ่านโรงภาพยนตร์ พร้อมทั้งการขายลิขสิทธิ์ให้สื่อทางทีวีในรูปแบบของ Cable TV, Free TV, Internet, IPTV, Video on Demand เป็นต้น จะยังดำเนินการตามปกติ โดย MAJOR ยังคงเป็นพันธมิตรเช่นเดิม
“ธุรกิจเดิมยังรันปกติ ไม่เปลี่ยนธุรกิจ ยังทำภาพยนตร์ต่อไป รันต่อไป แต่ไม่ให้ขาดทุน สามารถร่วมกับเมืองนอกได้ ตนเองค่อนข้างมีคอนเน็กชัน ถ้าร่วมกันทำอาจจะทำให้ใหญ่ขึ้น ส่วนธุรกิจใหม่จะลุยคอนเสิร์ตรูปแบบใหม่ ๆ มิวสิกเฟสติวัล สตรีตอาร์ต วงการภาพยนตร์ เพลง สตรีมบอร์ดเพลงหนัง เป็นต้น เป็นการนำสิ่งที่ทำมาสร้างให้ใหญ่ขึ้น ถ้าเห็นอะไรที่น่าจะผลักดันไปต่อได้ก็พร้อมจะเปิดประตูให้ มอบโอกาสให้น้อง ๆ ศิลปิน เราไม่ได้มองว่าตัวเองจะทำค่ายเพลง แต่ในเชิงเอนเmอร์เทนเมนต์สามารถผลักดันได้ จัดงานไปให้ไกลกว่านี้ ดีกว่าเดิมได้ เปิดกว้างให้พาร์ตเนอร์ทุกคน”
ตั้งเป้าปี 2566 มีรายได้ 200 ล้านบาท
“จิรัชย์ วงษ์ตระหง่าน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MPIC กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2566 คาดว่ารายได้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2565 โดยหลัก ๆ ยังคงเป็นรายได้จากธุรกิจเดิม คือ ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ ซึ่งในช่วงปลายไตรมาส 3/2566 และในไตรมาส 4/2566 จะมีภาพยนตร์เรื่องใหม่ออกฉาย นอกจากนี้บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่อง Long Live Love (ลอง ลิฟ เลิฟ) ที่นำแสดงโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ กับชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต เข้ามาด้วย
ส่วนธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจเอนเทอร์เทนเมนต์แนวใหม่ หลังขันเงิน ไทยเทเนี่ยม เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ MPIC นั้น คาดว่าภายในปีนี้จะเริ่มเห็นโปรเจกต์ที่เป็นเอนเทอร์เทนเมนต์แนวใหม่อย่างน้อย 2-3 โปรเจกต์ ซึ่งยังคงเป็นส่วนที่สร้างรายได้และกำไรได้น้อย แต่จะเห็นความชัดเจนในแง่ของผลตอบแทนได้ชัดเจนขึ้นในปี 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้บริษัทมองว่าเอนเทอร์เทนเมนต์แนวใหม่ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต จะมีด้วยกันหลากหลายส่วน เช่น มิวสิก, ภาพยนตร์, เกม และศิลปะ เป็นต้น
“ในอนาคต MPIC จะมุ่งไปในธุรกิจเอนเทอร์เทนเมนต์ที่เป็นแนวใหม่ ซึ่งจะเป็นในส่วนของคอนเทนต์ (CONTENT) เป็นหลัก โดยเราจะเป็นผู้เลือก (selector) ที่จะหา CONTENT แล้วเอามาต่อยอด เพื่อเพิ่ม Value ให้กับ CONTENT นั้น ๆ เราต้องการที่จะ outside in และ inside out คือ การเอา CONTENT ของไทยไปเมืองนอกให้ได้ และต้องการดึงดูดทุนจากเมืองนอกมาลงทุนกับเราให้ได้ด้วย นั่นคือสิ่งที่เราอยากเป็นและอยากไป แต่ในส่วนของธุรกิจเดิมยังคงดำเนินการ เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ”
รีแบรนด์เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ซาเล็คต้า”
ที่ประชุมคณะกรรม MPIC เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 กันยายน 2566 เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่จากบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC เป็นบริษัท ซาเล็คต้า จำกัด (มหาชน) หรือ ZAA เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโฉมใหม่ของ MPIC ที่ต้องการเป็น “Entertainment Management” ซึ่งการรีแบรนด์เพื่อแสดงตัวตนให้ชัดขึ้น สะท้อนภาพธุรกิจรูปแบบใหม่ที่จะเข้าสู่ระดับโลก
ทั้งนี้ ข้อมูลงบการเงินล่าสุด (ณ สิ้นสุด 30 มิ.ย. 2566) พบว่า MPIC มีขาดทุนสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 271.08 ล้านบาท ขณะที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น 464.94 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 253.65 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 157.24 ล้านบาท ขณะที่ล่าสุดผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกของปี 2566 มีรายได้รวม 61.28 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6.09 ล้านบาท
ขณะที่ ผลการดำเนินงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยดีนัก โดยในปี 2562 มีรายได้รวม 457 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 290 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 64 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 165 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท และปี 2565 มีรายได้รวม 292 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 24 ล้านบาท ล่าสุดครึ่งปีแรกของปี 2566 มีรายได้รวม 61.28 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6.09 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังรีแบรนด์และวางเป้าหมายในอนาคต จะมุ่งสู่ธุรกิจเอนเทอร์เทนเมนต์ที่เป็นแนวใหม่ คงต้องจับตาว่าจะสามารถฟื้นธุรกิจ MPIC ทรานส์ฟอร์มสู่ ZAA (ซีเล็คต้า) ได้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้การบริหารของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง “ขันเงิน ไทยเทเนี่ยม” โดยวางเป้ารายได้ปี 2566 ไว้ที่ 200 ล้านบาท และจะมีกำไรสุทธิ 65 ล้านบาท
ปัจจุบันกลุ่ม MPIC ดำเนินธุรกิจดังนี้ 1.บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนในธุรกิจจัดหาและซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกา และลงทุนในธุรกิจสื่อโฮมเอนเทอร์เทนเมนต์ พร้อมทั้งธุรกิจผลิตภาพยนตร์ไทย โดยลงทุนผ่านบริษัทย่อย 2.บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด จัดหาและซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกา และผลิต ฉายผ่านโรงภาพยนตร์ และจำหน่ายสิทธิในช่องทางต่าง ๆ 3.บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด ผลิตภาพยนตร์ไทย ฉายผ่านโรงภาพยนตร์ และจำหน่ายสิทธิในช่องทางต่าง ๆ
4.บริษัท เอ็ม วี ดี จำกัด จัดหาและซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศและภาพยนตร์ไทย จัดทำในรูปแบบวีซีดี, และบลูเรย์ จัดทำภาพยนตร์เป็นสื่อประเภทโฮมเอนเทอร์เทนเมนต์ 5.บริษัท เอ็ม ทาเลนต์ จำกัด ผลิตภาพยนตร์ไทย แลละครซีรีส์ ฉายผ่านโรงภาพยนตร์ และจำหน่ายสิทธิในช่องทางต่าง ๆ 6.บริษัท เมเจอร์ กันตนา บรอดแคสติ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจเคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ผ่านเคเบิลทีวี ช่อง M Channel
7.บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด ผลิตภาพยนตร์ไทย ฉายผ่านโรงภาพยนตร์ และจำหน่ายสิทธิใช่องทางต่าง ๆ 8.บริษัท เอ็มพีวี เอ็ม พิคเจอร์ส ฟิล์ม ดิสทริบิวชั่น (ลาว) จำกัด จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฉายผ่านโรงภาพยนตร์ และจำหน่ายสิทธิในช่องทางต่าง ๆ และ 9.บริษัท เอ็ม.พี.ไอ.ซี (กัมพูชา) ดิสทริบิวชั่น จำกัด จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในประเทศกัมพูชา ฉายผ่านโรงภาพยนตร์และจำหน่ายสิทธิในช่องทางต่าง ๆ