“เอสซีบี เอกซ์” เส้นทาง virtual bank

“เอสซีบี เอกซ์” (SCBX) ประกาศเข้าสู่ธุรกิจ “เวอร์ชวลแบงก์” (Virtual Bank) ด้วยการจับมือกับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ KakaoBank ด้วยการสร้างเป้าหมายให้กลุ่มคนเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยเอสซีบี เอกซ์ เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินได้


ธนาคารรูปแบบที่ไม่มีสาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ กำลังถูกจับตา หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เตรียมออกเกณฑ์การจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ พร้อมกับการกำหนดว่าจะอนุญาตในเบื้องต้นก่อน 3 แห่ง ขณะที่มีสถาบันการเงินของไทยและต่างประเทศต่างสนใจที่จะลงทุนมากกว่าจำนวนที่ธปท.จะให้ใบอนุญาต

เบื้องต้นแบงก์ชาติมีการกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 5,000 ล้านบาท

พร้อมกับคาดว่าจะเปิดรับสมัครได้ภายในสิ้นปี 2566 และให้สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2568

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นอีกกลุ่มธุรกิจการเงินที่พร้อมเข้าร่วมชิงชัยในสนามของเวอร์ชวลแบงก์ โดย “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “เวลาใดที่มีวิกฤต ย่อมมีโอกาสเสมอ”

สำหรับวิกฤตที่เกิดในประเทศไทย เกิดจากปัญหาที่หมักหมมมานานจนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะเดียวกัน SCBX ถูกจัดจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ pain point ใน 3 เรื่อง คือ

1.ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ

2.ปัญหา Disruption Technology

3.ปัญหาสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน SCBX ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ในปี 2030 ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้า Net Zero ปี 2050

ทุกวันนี้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ หรือ Pain Point ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ เรื่องนี้นับเป็นหนึ่งในโจทย์หลักที่กลุ่ม SCBX ตระหนัก และให้ความสำคัญ ซึ่งการถือกำเนิดของ Virtual Bank จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มโอกาสให้กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบนี้ ให้สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น” นายอาทิตย์ กล่าว

นายอาทิตย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดตั้ง Virtual Bank ให้แข็งแรง จะต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการให้บริการเพื่อความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า และแน่นอนว่าพันธมิตรทางธูรกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญ

เอสซีบี เอกซ์ จึงเลือกที่จะร่วมมือกับ KakaoBank พันธมิตรระดับโลก ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัล 100% ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยสถาบันการเงินแห่งนี้ที่มีจุดแข็งคือความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ Virtual Bank และยังมีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถ

ผู้บริหาร เอสซีบี เอกซ์ แสดงความเชื่อมั่นว่า KakaoBank พร้อมสนับสนุนให้กลุ่ม SCBX ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินในประเทศไทย และมีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดเป็นอย่างดี ในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการช่วยเพิ่มโอกาสคนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก เหมาะสม และทั่วถึง

ทั้งนี้ ความร่วมมือจัดตั้ง Consortium เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อไป

“SCBX มีมุมมองเชิงบวกต่อ Virtual Bank มั่นใจว่าจะช่วยลดความเลื่อมล้ำทางการเงินต่อภาคประชาชนได้ เนื่องจาก 10 ธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังเน้นบริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายได้ปานกลางเป็นหลัก”

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยในระบบยังมีสัดส่วนสูง ทำให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ดังนั้น Virtual Bank สามารถเข้ามาช่วยในประเด็นนี้ได้ เนื่องจากนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนทางการเงินของธนาคารให้ต่ำลงได้มาก ขณะนี้ SCBX รอเพียงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งระยะเวลาการยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank อย่างเป็นทางการก่อน” นายอาทิตย์ กล่าว

ส่วนงบเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีของบริษัทภายใต้กลุ่ม SCBX มีเป้าหมายลงทุนที่แตกต่างกัน แต่เงินลงทุนดังกล่าวเฉพาะในกลุ่ม SCBX ปีนี้วางเป้าหมายไว้ที่ 2,000-3,000 ล้านบาท

 เงินจำนวนนี้จะเน้นลงทุนใน 3 ส่วน คือ

1.ระบบ Cloud

2.ระบบ Cyber Security

3.ระบบ DATA AI

เงินจำนวนนี้จะส่งกระจายลงไปยังบริษัทในเครือต่าง ๆ ต่อไป ขณะที่ปัจจุบัน SCBX มีเงินสดในมือสดสูงกว่า 8 แสนล้านบาท มีเงินกองทุนสูงกว่า 19% มีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ส่วนผู้ถือหุ้นกว่า 18% สูงสุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ การที่มีฐานเงินที่สูงมากทำให้ SCBX มีโอกาสเติบโตก้าวกระโดด

พร้อมกับเพิ่มธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาอีกในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เน้นธุรกิจที่สร้างการเติบโต ทั้งการควบรวม-ซื้อกิจการ โดยตั้งเป้าว่าจะซื้อธุรกิจที่ทำกำไรได้ทันทีไม่ต้องปรับโครงสร้าง และไม่ซื้อธุรกิจธนาคาร เน้นซื้อธุรกิจนอกประเทศในอาเซียน อย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม ที่เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างฐานลูกค้าเติบโตเท่าตัวได้

Back to top button