“เศรษฐา” สร้างสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ พร้อมขยายการค้า-ลงทุนร่วมกัน

"เศรษฐา" สานต่อสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันเศรษฐกิจ หารือบริษัทยักษ์ใหญ่ การเกษตร ปศุสัตว์ ปิโตรเคมีและน้ำมัน


วันที่ 21 ต.ค.66  ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงผลสำเร็จในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ว่า เมื่อค่ำที่ 20 ต.ค. เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงริยาด ได้เลี้ยงรับรองอาหารค่ำให้กับตนกับคณะ โดยได้พบกับทีมไทยแลนด์ และเจ้าหน้าที่ทางพาณิชย์การค้า การลงทุน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

ทั้งนี้ ทางเอกอัครราชทูตไทยได้ให้ข้อคิดว่า ความจริงแล้วศักยภาพการค้า การลงทุน ที่ซาอุดีอาระเบีย ยังสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยายการค้า ด้านการเกษตร เชิงพาณิชย์ และการลงทุน ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้แจ้งว่าต้องการเจ้าหน้าที่ประจำซาอุดีอาระเบีย หลังจากพูดคุยกันแล้ว ตนมีความเข้าใจถึงความต้องการตรงนี้ และอยากให้เอกอัครราชทูตได้เขียนมาว่า เหตุผลที่ต้องการคืออะไร เพราะถือว่าเป็นประเทศหลักที่รัฐบาลเพิ่งเปิดความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ปิดไปนาน ถือว่าเป็นประเทศที่ไทยอยากมีความสัมพันธ์กันเพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การค้า การลงทุนขึ้นไปอีก

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า ตนได้ไปเยี่ยมชมเมืองโบราณของซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 300-400 ปี ถือเป็นเมืองแรกในซาอุฯ ซึ่งถูกทำลายไปและสร้างขึ้นมาใหม่ โดยมีการลงทุนไปเยอะมาก ในการสร้างเมืองนี้แห่งการท่องเที่ยว มีการสร้างพื้นที่อย่างมโหฬหาร และได้ขึ้นเป็นทะเบียนมรดกโลกด้วย รวมถึงยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการเมืองแห่งอนาคต ซึ่งมีการลงทุนกว่า 5 แสนล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อไปดูก็ตกใจในความยิ่งใหญ่ โดยซาอุดีอาระเบีย มีความมั่งคั่งสูงจากการค้าขาย ปิโตรเคมีคอล และน้ำมัน เพราะฉะนั้นจึงมีเงินทุนสูงมาก แต่เขาเองก็ทราบดีว่าโลกเปลี่ยนไป การส่งเสริมการลงทุนและสร้างเมืองใหม่เป็นเรื่องสำคัญ ตนได้ดูนิทรรศการและวิธีการที่เขาเสนอ ซึ่งการลงทุนน่าจะนำไปใช้ได้ในการต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในแง่เมกะโปรเจกต์ที่เราจะทำที่เมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือ แลนด์บริดจ์

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ได้คุยกับภาคเอกชน 4 บริษัท บริษัทแรกคือ บริษัท Saudi Agricultural and Livestock Investment Company  หรือ SALIC เป็นบริษัทที่ครบวงจรด้านการเกษตรและปศุสัตว์ มีการลงทุนไปทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เรารู้สึกแปลกใจอย่างมาก ขนาดประเทศเขามีแต่ทะเลทราย แต่มีบริษัทใหญ่ระดับโลกในการค้าขายสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ที่อเมริกาใต้ ยุโรป และในเอเชีย วันนี้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ทางด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ เรื่องของวัว ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ว่าจะสามารถผลักดันไปด้วยกันหรือไม่

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้จะให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำภาคเอกชนมาพูดคุยกับทาง บริษัทกับ SALIC ซึ่งเขาก็ยินดีและตื่นเต้น ที่เราจะมีการทำอะไรร่วมกันในมิติใหม่ๆ และมิติใหญ่ๆ รวมถึงได้เจอกับกลุ่มกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ ซึ่งเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่มาก ลงทุนทั้งในซาอุฯและต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ และจีน แต่ยังไม่มีการลงทุนที่เมืองไทย แต่ก็ต้องการลงทุนด้านเมกะโปรเจกต์ เพราะฉะนั้นไทยเอง มีโครงการขนาดใหญ่เยอะ จึงจะมีการพูดคุยกันต่อ

นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับ  บริษัท Saudi Arabia Basic Industries Corporation  หรือ SABIC ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของซาอุดีฯ หนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ถือหุ้นคนเดียวกัน นั่นคือ PIF ซึ่งมีการลงทุนในเยอะมากอยู่แล้ว และเรื่องของปุ๋ย ที่ส่งให้เราเป็นรายใหญ่ที่สุด เอกชนไทยที่ทำเกษตรกรรมก็ซื้อจากบริษัทนี้เยอะมาก รวมถึงหัวเชื้อปุ๋ย ที่เรามีอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะมีการพูดคุยเพื่อหาความร่วมมือกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่น่ายินดีอย่างหนึ่ง ที่ตนถามเขาว่า บริษัท SABIC มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  หรือ PTT และหลายบริษัทเอกชน ทางเขาติดขัดอะไรหรือไม่เกี่ยวกับการลงทุน การทำธุรกิจกับไทย ซึ่งเขาบอกไม่มีเลย ทุกอย่างได้รับการสนับสนุนที่ดีมาก และอยากให้การสัมพันธ์เดินต่อไป ตนต้องขอบคุณหน่วยงานต่างๆที่ร่วมงานกับทาง บริษัท SABIC ที่ทำให้เขาชื่นชมเราได้ตรงนี้ ก็หวังส่าการลงทุนจะพัฒนาต่อไปในทุกมิติ

นอกจากนี้ยังได้มีการ หารือกับ นายยาเซอร์ บิน อุสมาน อัล-รูมัยยาน (Yasir bin Othman Al-Rumayyan) ประธานกรรมการกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Governor of the Public Investment Fund: PIF)  และ นายอามิน ฮัซซาน อาลี นัซเซอร์ (Amin Hassan Ali Nasser) ประธานกรรมการและ CEO รัฐวิสาหกิจ Saudi Arabian Oil Company (Saudi ARAMCO).

Back to top button