KKPS แนะ “ซื้อ” AMATA เป้า 35 บ. หลังยอดขายที่ดินแตะ 1.2 พันไร่ ลุ้นกำไร Q3 โต 7 เท่าตัว

“บล.เกียรตินาคินภัทร” แนะนำซื้อ AMATA คาดยอดขายที่ดินงวด 9 เดือนแรก โตแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี แตะ 1.2 พันไร่ จับตากำไรไตรมาส 3/66 โต 700% ทะลุ 500 ล้านบาท พร้อมให้ราคาเป้าหมายที่ 35 บาท อัพไซส์ 38%


บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (25 ต.ค.66) ว่า จากการขายที่ดินใหม่ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อราคาหุ้น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายที่ 35 บาท เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน 25.25 บาท ยังคงมีอัพไซส์ 38% โดยใช้ประมาณการปี 2567 และค่า P/E เพียง 13.6 เท่า ถือว่าราคาหุ้นยังไม่แพง และต่ำกว่าค่า P/E เฉลี่ยที่ 14.1 เท่า จากช่วงปี 2549-2565 และต่ำกว่าค่า P/E ของ WHA ที่ระดับค่า P/E 16.8 เท่า

นอกจากนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์ประเมินยอดขายที่ดินในไตรมาส 3/2566 ไว้ที่ 520 ไร่ นับว่าเพิ่มขึ้น 131% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 40% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยแบ่งออกเป็นยอดขายที่ดินในประเทศจำนวน 358 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 54% ในนิคมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี และอีก 46% ในนิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ขณะที่ยอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามจำนวน 163 ไร่ รวมทั้งอมตะซิตี้ฮาลอง กับลองถั่น

ขณะเดียวกัน ยังคาดการณ์ว่ายอดขายที่ดินใหม่และรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จะแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ 1,202 ไร่ เทียบกับระดับสูงสุดล่าสุดที่ 1,204 ไร่ ในปี 2556

ทั้งนี้ เนื่องจากนิคมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี มียอดขายที่ดินใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก นับเป็นสัญญาณบวกต่อแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้น และได้คาดการณ์ยอดโอนที่ดินในไตรมาส 3/2566 ไว้ที่ 268 ไร่ โดยมาจากเวียดนามประมาณ 60% ซึ่งทำให้คาดการณ์ยอดขายที่ดินที่ยังค้างอยู่ (Backlog) ในประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 ได้ที่ 7.3 พันล้านบาท ซึ่งบ่งชี้ว่าในไตรมาส 4/2566 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี

ขณะเดียวกัน ประมาณการกำไรไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 704% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 104% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีตัวขับเคลื่อนหลักเป็นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ (การโอนที่ดินในเวียดนามและระยอง) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสองเท่า เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นสามเท่า จากไตรมาสก่อนหน้า อีกทั้งยังมองว่ารายได้ประจำจากสาธารณูปโภคจะเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่ง แต่รายได้จากค่าเช่าจะไม่โดดเด่นจากยอดขายโรงงานสำเร็จรูปของเวียดนามในปี 2565

นอกจากนี้ ยังคงประมาณการเติบโตของกำไรหลัก (Core Earnings Growth) จากยอดขายที่ดินที่สูงกว่าคาด แต่จะถูกหักล้างด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการขายที่ดินในปี 2566 จาก 1,150 ไร่ เป็น 1,226 ไร่ และในปี 2567 จาก 1,100 ไร่ เป็น 1,300 ไร่ เพื่อปรับยอดขายที่ดินตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาสปัจจุบัน ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในอุตสาหกรรมการผลิตไทย

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ได้ปรับอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เฉลี่ยสำหรับรายได้จากการขายที่ดินจาก 59.3% เป็น 55.5% สำหรับปี 2566 และในปี 2567 อยู่ที่ 58.3% เพื่อสะท้อนถึงต้นทุนที่ดินที่สูงขึ้นของโครงการพัฒนาใหม่ในประเทศไทย

Back to top button