“เกียรตินาคินภัทร” มองส่งออกไทย Q4 ฟื้น อานิสงส์ “ข้าว-ผลไม้” ขยายตัว
บล.เกียรตินาคินภัทร เผยส่งออกไทยเดือนก.ย. 66 โต 2.1% อานิสงส์ยอดส่งออกสินค้าเกษตรขยาย 12% จากข้าวเป็นหลักไปแอฟริกาใต้-อินโดนีเซีย และการส่งออกภาคอุตสาหกรรมทรงตัวที่ 0.3% พ่วงยอดส่งออกผลไม้ไปจีนพุ่ง 14.6% ดันการส่งออกไทยไตรมาส 4/66 ฟื้นตัว
บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร หรือ KKPS ระบุในบทวิเคราะห์ (24 ต.ค.66) เกี่ยวกับการส่งออกของไทยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่ารวมถึง 2.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 2.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และปรับขึ้น 4.9% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งการขยายตัวต่อดังกล่าว สูงกว่าตามมติเอกฉันท์ (Consensus) ที่ 1.75% ซึ่งประเมินว่าส่วนใหญ่มาจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว, สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร, การส่งออกน้ำมัน และการส่งออกทองคำ แต่หากนับรวมช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกของไทยหดตัวลง 3.8%
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยนั้น มีการขยายตัวขึ้น 12% หลังจากมีการปรับตัวลง 1.5% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรเติบโตขึ้น 5.4% โดยมีข้าวเป็นปัจจัยหลักจากราคาที่สูงและปริมาณการส่งออกไปยังแอฟริกาใต้และอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น ภายหลังนโยบายการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย ส่วนการส่งออกผลไม้สดทั้งแบบแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มีการเติบโตรวมกันถึง 86.8%
ทั้งนี้การส่งออกภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน ยังคงทรงตัวอยู่ในแดนลบที่ 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของก่อน จากการลดลงของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ 4.7% การลดลงของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ 7.0% และการลดลงของยานพาหนะ อุปกรณ์ รวมถึงส่วนประกอบรวมกันที่ 0.8%
ด้านตัวเลขการส่งออกของกลุ่มคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลงถึง 24.3% ส่วนเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบลดลงถึง 27.7% และรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนลดลง 34.6% แม้การเติบโตที่โดดเด่นของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่ 27.3% และทองคำที่เติบโตขึ้น 64.8% ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว จะช่วยชดเชยการส่งออกที่ลดลงในข้างต้นได้บางส่วน
ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญของไทยในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลง 4.2% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับการเติบโตในเดือนสิงหาคมที่ 2.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการหดตัวดังกล่าวมาจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่ลดลง 10% กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา, สปป. ลาว, เมียนมา และเวียดนาม ลดลง 18.1% และสหภาพยุโรปที่ลดลง9.3% ขณะเดียวกัน การส่งออกไปยังจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 14.6% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการส่งออกผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุด
นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าของไทยลดลง 8.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน หลังจากการปรับตัวลง 12.8% ในเดือนสิงหาคม โดยเกิดจากการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ลดลง 15.3% และวัตถุดิบที่ลดลง 15.5% ซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัดจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เคมี และทองคำ อีกทั้งการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีการชะลอตัวลง 4.2% ในเดือนกันยายน บ่งชี้ว่าการบริโภคภายในประเทศกำลังอ่อนแอ โดยเมื่อคำนวณแล้วพบว่า ดุลการค้าของไทยนั้น เกินดุลเป็นจำนวนมากถึง 2.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ข้อมูลการค้าของไทยล่าสุด ส่งสัญญาณฟื้นตัวที่เหนือความคาดหมายของตลาด หากไม่นับรวมทองคำ ซึ่งการส่งออกในเดือนกันยายนจะเพิ่มขึ้น 0.85% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทางฝ่าย บล. เกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2566 จากการมีฐานเปรียบเทียบที่ต่ำ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ลดลงเหลือ 2.199 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน อีกทั้งตัวชี้วัดการค้าของภูมิภาค รวมถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศเกาหลีใต้ เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวของการค้าโลก