“ดีเอสไอ” ขยายผล “หมูเถื่อน” 161 ตู้ เจอ 2 บริษัทใหญ่เอี่ยวนำเข้า
“ดีเอสไอ” บุกค้น 2 บริษัทดังกลางกรุง ล่านายทุนหมูเถื่อน หลังพบของกลางต้องสงสัย 200 กิโลกรัม เชื่อมโยงของกลาง 161 ตู้ เจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีกับขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบ คดีพิเศษที่ 59/2566 หลังจากสืบสวนสอบสวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (เนื้อสุกรแช่แข็ง) ตั้งแต่ปี 2564-ปัจจุบัน มีพยานหลักฐานตามสมควร จึงได้มีมติให้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาและแจ้งข้อกล่าวหากับผู้นำเข้าสินค้าเนื้อสุกรแช่แข็ง ทั้งในฐานะนิติบุคคลและในฐานะบุคคลธรรมดา รวมเบื้องต้น 6 ราย (จับกุมครบแล้ว)
ในความผิดฐานหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากร ที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 243 มาตรา 244 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 นั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ต.ค.2566 ที่ ซ.ประชาอุทิศ 13 แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำโดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน คณะพนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกันเปิดปฏิบัติการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 2 จุด คือ บริษัทแห่งหนึ่ง แบ่งเป็น อาคารเลขที่ 34/20 และ อาคารเลขที่ 34/24 ซ.ประชาอุทิศ 13 แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและพยานวัตถุเพิ่มเติม ก่อนนำเข้าประกอบสำนวนคดีพิเศษที่ 59/2566
สำหรับการตรวจค้นวันนี้ สืบเนื่องจากการขยายผลที่ได้จับกุมกรรมการของบริษัทชิปปิ้งเอกชน 6 ราย (5 บริษัท) จึงพบเส้นทางการเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องว่า บริษัทแห่งนี้รับหน้าที่เป็นผู้จ่ายเงินให้กับบริษัทชิปปิ้งเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อสั่งซื้อเนื้อสุกรแช่แข็งก่อนนำเข้าประเทศไทยผ่านพิธีการศุลกากร โดยการสำแดงเท็จเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง (Frozen Food)
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า บริเวณด้านหน้าอาคารพาณิชย์ เลขที่ 34/20 ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา 4 ชั้น อยู่ปากซอยวัดเทพนิมิตต์ แสดงชื่อเป็นป้ายร้านจำหน่ายเนื้อวัว เนื้อสัตว์ และเครื่องในประเภทต่าง ๆ แช่แข็ง ส่วนบริเวณชั้นล่างเปิดเป็นร้านจำหน่ายเบียร์และไวน์ บริเวณชั้นบนพบเปิดเป็นลักษณะห้องอาหารและสำนักงาน
อีกทั้งบริเวณด้านหลังของอาคารพบว่ามีจุดที่ใช้ในการสไลด์เนื้อสัตว์แช่แข็งและมีการติดตั้งตู้แช่อยู่ภายในอาคารอีกด้วย ระหว่างเข้าตรวจค้น เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไม่พบเจ้าของอาคาร จึงได้ประสานเจ้าของอาคารให้มาพบพนักงานสอบสวนภายใน 1 ชั่วโมง
จากนั้นเวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ตรวจค้นเป้าหมายที่ 2 เป็นอาคารพาณิชย์ 1 คูหา 4 ชั้น เลขที่ 30/24 (ห่างจากจุดแรกประมาณ 100 เมตร) ลักษณะเป็นอาคารสำนักงานและมีตู้แช่เนื้อสัตว์อยู่ที่ด้านหลังอาคารอีกจำนวนหนึ่ง โดยจุดดังกล่าว พบพนักงานจำนวนหนึ่งของบริษัทอยู่ภายใน จึงได้นำกำลังเข้าไปตรวจค้น พร้อมกับนำเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เข้าไปตรวจสอบ เก็บพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นเอกสารและเนื้อสัตว์แช่แข็ง เพื่อนำไปตรวจสอบว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีที่ดีเอสไอกำลังติดตามอยู่หรือไม่
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า จากข้อมูลการสืบสวนสอบสวนพบว่าบริษัทที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นวันนี้ มีความเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 21 ตู้ จากทั้งหมด 161 ตู้ ซึ่งนอกเหนือจากการนำเข้าเนื้อหมูจำนวนดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีขบวนการแอบลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบังตั้งแต่ปี 2564 อีก รวมแล้วกว่า 2,385 ตู้
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทที่เข้าตรวจค้นวันนี้ คาดว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งเนื้อหมูแช่แข็งรวมกว่า 100 ตู้ ซึ่งดีเอสไอจะดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังไปยังข้อมูลของตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดและจะรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานประกอบเข้ากับสำนวนด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ตู้คอนเทนเนอร์มักมีการสำแดงเท็จเป็นสินค้าแช่แข็งประเภทอื่น (Frozen Food) แต่ภายในเป็นเนื้อหมูและเนื้อสัตว์เถื่อนที่ลักลอบนำเข้าเข้ามา
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การเข้าตรวจค้นวันนี้มาจากการขยายผลที่ดีเอสไอได้จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 6 ราย ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทเอกชน มีการให้การพาดพิงมาถึง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบพยานหลักฐานและเส้นทางการเงิน พบว่ามีความเชื่อมโยงมายังบริษัทแห่งนี้ ดีเอสไอจึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อขอศาลออกหมายจับบุคคล 2 ราย ซึ่งเป็นนายทุนเบื้องหลัง
ในความผิดฐาน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากร ที่ต้องเสียสำหรับของนั้นๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 มาตรา 244 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 นั้น และหมายค้น 2 หมาย สำหรับสถานที่สองจุดในวันนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหา 2 รายในวันนี้ เจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัว
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า นอกจากจะพบว่าเส้นทางการเงินหลังจากที่นายทุนได้สั่งซื้อ มีการโอนไปยังบริษัทชิปปิ้งเอกชนแล้ว ยังได้มีการโอนเงินไปยังเจ้าหน้าที่รัฐอีกส่วนหนึ่ง โดยมีการติดต่อขอนำเข้าสำแดงสินค้ากับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหนึ่ง ผ่านการดำเนินการกับบุคคลเดิมซ้ำ ๆ จนเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าว อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวด้วยว่า อย่างไรตาม จะต้องตรวจสอบต่อไปเพื่อให้ได้ความชัดเจนว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด ส่วนกรณีที่มีการสงสัยว่าบริษัทดังกล่าวนี้ จะเป็นพื้นที่กระจายเนื้อหมูเนื้อวัวเถื่อนในดอนเมืองด้วยหรือไม่นั้น เนื่องจากในพื้นที่มีร้านบุฟเฟ่ต์ ชาบู หมูกระทะปิ้งย่างเป็นจำนวนมาก ตนมองว่าเรื่องดังกล่าวมีความเป็นไปได้ เพราะพบว่าภายในบริเวณจุดตรวจค้นมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการสไลด์เนื้อสัตว์แช่แข็งและพบห้องเย็นอยู่ภายในจุดตรวจค้นทั้ง 2 จุดนี้ด้วย
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า นอกจากนี้ ภายในอาคารพาณิชย์จุดแรก ยังพบเนื้อหมูต้องสงสัย 20 กล่อง กล่องละ 10 กิโลกรัม รวมน้ำหนัก 200 กิโลกรัม จึงได้ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์นำกลับไปตรวจสอบว่าเป็นเนื้อหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าหรือมีที่มาจากประเทศใด หรือมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหมูเถื่อนภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกอายัดไว้ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง หรือไม่
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบย้อนหลัง พบการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนจำนวนกว่า 2,385 ตู้ ทำให้กรมศุลกากรสูญเสียการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรตู้ละ 500,000 บาท รวมแล้วมากกว่า 1,150 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายกับขบวนการที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง รวมถึงผู้ประกอบการรายใดที่รับซื้อเนื้อหมูเถื่อนจากบริษัทต่าง ๆ นี้ ก็จะถูกดำเนินคดีในฐานความผิดเดียวกันและอาจต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้นด้วย