DSI สั่งฟัน 11 ผู้ต้องหาฉาวหุ้น STARK หลักฐานมัด “วนรัชต์” แน่น สรุปสำนวน พ.ย.นี้
DSI สั่งฟัน 11 ผู้ต้องหาคดีฉาวหุ้น STARK เล็งพ่วงผู้สอบบัญชี “ดีลอยท์ ทู้ช” และ “ไพร้ซวอเตอร์ เฮ้าส์” เตรียมสรุปสำนวนคดีส่งอัยการกลางเดือน พ.ย.นี้ ย้ำชัด “วนรัชต์” ไม่พ้นผิด เหตุมีหลักฐานมัดแน่น พร้อมไล่ล่า “ชนินทร์” ข้ามประเทศและตามยึดทรัพย์ต่างแดน เพื่อนำมาชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กรรมการ อดีตกรรมการ และอดีตผู้บริหาร STARK และนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวม 10 ราย ประกอบด้วยบุคคลธรรมดา 5 ราย และนิติบุคคล 5 ราย ได้แก่ 1) บริษัท STARK 2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ
6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด TCI) 9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ 10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในกรณีตกแต่งงบการเงิน และเปิดเผยข้อมูลในแบบ Filing หุ้นกู้อันเป็นเท็จของ STARK และเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงและได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ล่าสุด พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า DSI ได้มีข้อสรุปแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 10 รายตามที่ก.ล.ต.กล่าวโทษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมีเพิ่มอีกหนึ่งราย ได้แก่ นางสาวยสบวร อำมฤต ลูกน้องของนายศรัทธา ทั้งหมดนี้ดีเอสไอจะมีการสรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องศาลภายในกลางเดือน พ.ย.นี้ ขณะนี้รอเพียงแค่ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัทตรวจสอบบัญชีเท่านั้น
โดย DSI กำหนดแนวทางการสืบสวนเพิ่มเติมในกลุ่มบริษัทตรวจสอบบัญชีทั้งเก่าและใหม่ของ STARK อย่างเช่น บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด และบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) โดยจะพิจารณาหลักฐานว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดร่วมหรือไม่ โดยอยู่ระหว่างการสอบปากคำ และพิจารณาตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม หากหลักฐานเพียงพอและเข้าข่ายร่วมกระทำความผิดก็จะถูกส่งฟ้องร่วมไปด้วย
เนื่องจากมีข้อสังเกตจากการพิจารณาพยานหลักฐานที่พบว่าอาจมีข้อบกพร่องในขั้นตอนการตรวจสอบบัญชี จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ STARK ทางพนักงานสอบสวนจึงได้ตั้งเป็นข้อสังเกต แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมว่ามาจากกระบวนการตรวจสอบบัญชีผิดไปจากมาตรฐานของบริษัทหรือไม่ โดยดีเอสไอจะมีการนำมาเทียบเคียงกับบริษัทในกลุ่มเดียวกันเพื่อหาข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการเรียกสอบและเรียกพยานเอกสารจากบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมหลักฐาน โดยบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด ได้ให้ความร่วมมือในการส่งเอกสารให้กับ DSI ที่ได้มีการขอเอกสารข้อมูลและเรียกมาสอบปากคำให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้วประมาณ 6 ครั้ง ซึ่งบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด ได้ดำเนินการสืบสวนและแสวงหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกง ความประพฤติในทางทุจริต การบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง และตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (Forensic Accounting) อย่างต่อเนื่อง ตามที่ DSI ได้มีการทำหนังสือเพื่อให้มีการ Forensic ต่อไป (หลังดีลอยท์แม่สั่งหยุดตรวจสอบ) เนื่องจากบริษัทแม่ที่ต่างประเทศไม่มีอำนาจสั่งให้หยุดการตรวจสอบ นั่นจึงทำให้ใกล้ที่จะเรียกประชุมเพื่อสรุปข้อมูลหลักฐานแล้ว
พ.ต.ต.สุริยา กล่าวอีกว่า DSI ยังขอข้อมูลเพิ่มเติมไปที่ก.ล.ต. เช่นกรณีหุ้น STARK ว่า นายวนรัชต์ได้รับผลประโยชน์อะไรบ้างจากการสร้างราคาหุ้น รวมทั้งหลักเกณฑ์ PP มีลักษณะอย่างไร เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็น
นอกจากนี้ DSI ยังเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นบุคคลใกล้ชิดและครอบครัวของนายวนรัชต์ รวมทั้งกลุ่มเครือญาติของนายวนรัชต์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA มาสอบปากคำแล้ว แต่เบื้องต้นยังไม่พบข้อมูลว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดในคดีดังกล่าว
“แม้ว่านายวนรัชต์จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นกับคดี STARK มาโดยตลอด แต่จากพยานหลักฐานพบว่าการลงนามเอกสารสำคัญของบริษัททุกครั้งต้องผ่านนายวนรัชต์ ซึ่งต้องอ่านข้อความในหนังสือดังกล่าวก่อนลงนามทุกครั้ง ดังนั้นจึงปฏิเสธความรับผิดชอบคดีนี้ไม่ได้” อธิบดี DSI กล่าว
โดยดีเอสไอมีการกำหนดกรอบเวลาภายในช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ ต้องมีความชัดเจนประเด็นสุดท้าย คือประเด็นผู้ตรวจสอบบัญชี เพื่อสรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อฟ้องศาลอาญาต่อไป
ส่วนฐานความผิดของผู้ที่ถูกฟ้องหากกระทำผิดจริงจะมีโทษทั้งอาญาและแพ่ง มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล เพราะมีเรื่องเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ซึ่งได้มีการร่วมกับปปง.ในการพิจารณาบรรเทาความเสียหายให้กับประชาชน ขณะนี้มูลค่าทรัพย์สินที่มีการยึดทรัพย์ได้ มีประมาณ 500 ล้านบาท จากการได้มาหลังกระทำความผิด ยังไม่เพียงพอต่อการเยียวยาชดเชยผู้เสียหาย
นอกจากการเร่งสรุปสำนวนคดีแล้ว มีการเร่งติดตามเบาะแสของทรัพย์ และเส้นทางการเงินที่มีการถ่ายเททรัพย์สินกระจายตามที่ต่าง ๆ ในต่างประเทศกว่าหมื่นล้านบาท สำหรับคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท ขณะที่กรณีนายชนินทร์ที่มีการหลบหนีก็อยู่ระหว่างการเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป
ส่วนของการชี้แจงข้อมูลกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด (กมธ.ปปง.สภาผู้แทน) นั้น DSI ได้เข้าไปชี้แจงข้อมูลความคืบหน้าแล้ว ที่ผ่านมามีการสอบถามความคืบหน้าของคดีมาเป็นระยะ เพื่อความรอบคอบทาง DSI ได้มีแต่งการตั้งอัยการและแต่งตั้งรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ก.ล.ต.มาร่วมเป็นที่ปรึกษาในคดีด้วย