ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งให้ “รับฟ้อง” ถอนมติ กสทช. ควบ “TRUE-DTAC”
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำศาลชั้นต้นสั่ง “รับฟ้อง” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้อง กสทช. มีมติควบรวมธุรกิจ “TRUE-DTAC” ชี้คดีนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และธุรกิจมีผู้ประกอบการน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเข้าข่ายกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(30 ต.ค.66) ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ 443/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 544/2566 ระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับสำนักงาน กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่าคณะกรรมการ กสทช. กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC โดยมติเสียงข้างมากเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ซึ่งผู้ฟ้องคดี เห็นว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกิจการโทรคมนาคม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด ให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค และยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ DTAC
จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง
(1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตาม มาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน
ส่วนระยะเวลาการฟ้องคดี แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 จะเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ แต่บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด
อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคม จึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย ทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่า การฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่งกฎหมายเดียวกัน
ศาลปกครอง จึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป