กกร. ห่วง “ส่งออกไทย” หดตัว หลังสงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” กระทบเศรษฐกิจโลก
กกร. หวั่นการส่งออกของไทยอาจหดตัวลง เหตุสงครามอิสราเอล-ฮามาสส่งผลกระทบถึงความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก อีกทั้งส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก ดังนั้นหวังว่ารัฐบาลจะเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนพลังงานของประเทศในระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องสงครามอิสราเอล-ฮามาส มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า โดยที่ กกร. ได้ประมาณการส่งออกไว้เป็น -2.0 ถึง -1.0 (จากประมาณการเดิมเมื่อเดือนต.ค. 66 ที่ -2.0% ถึง -0.5%) โดยสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย คือ สินค้าเกษตร และยานยนต์ ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้
ขณะเดียวกันสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก อีกทั้งสงครามส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก หากสงครามรุนแรงและขยายวงกว้างไปถึงประเทศที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งสูงแตะระดับ 140-150 ดอลลาร์ต่อบาเรล ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสงครามจะผ่านช่องทางการค้า การท่องเที่ยว และราคาพลังงานยังไม่มากนัก โดยไทยได้มีการค้ากับอิสราเอล – ฮามาส และประเทศรอบข้างเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี หรือต่ำกว่า 0.3% ของการค้าระหว่างประเทศ และมีนักท่องเที่ยวราว 2 แสนคนต่อปี หรือต่ำกว่า 1% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากขยายวงกว้างอาจกระทบกับการค้ากับตะวันออกกลางโดยรวม ซึ่งคิดเป็น 4% ของการส่งออกของไทยและกระทบกับต้นทุนนำเข้าพลังงานเป็นภาระการคลัง และค่าครองชีพของผู้บริโภค
นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการ่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. มีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางอ่อนค่า แม้ว่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ แต่เป็นปัจจัยกดดันทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับกอบประมาณการเศรษฐกิจปี 66 ของ กกร. ดังนี้ สำหรับตัวเลข GDP ปี 66 ณ เดือน ก.ย. อยู่ที่ 2.5-3.0% ต่อมา ณ เดือน ต.ค. อยู่ที่ 2.5-3.0% และคาดการณ์ว่า ณ เดือน พ.ย. จะอยู่ที่ 2.5-3.0% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกปี 66 ณ เดือน ก.ย. อยู่ที่ -2.0% ถึง -0.5% ต่อมา ณ เดือนต.ค. อยู่ที่ -2.0% ถึง -0.5% และคาดการณ์ว่า ณ เดือนพ.ย. จะอยู่ที่ -2.0% ถึง -1.0% ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อปี 66 ณ เดือน ก.ย. อยู่ที่ 1.7-2.2% ต่อมา ณ เดือนต.ค. อยู่ที่ 1.7-2.2% และคาดการณ์ว่า ณ เดือนพ.ย. จะอยู่ที่ 1.7-2.2% ตามลำดับ
ทั้งนี้ กกร. หวังว่ารัฐบาลจะเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนพลังงานของประเทศในระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อนโยบายรัฐบาล ดังนี้
- กกร. เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อช่วยประคับประคองกำลังซื้อภายในประเทศ และควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ชัดเจนในการเข้าร่วมโครงการ และควรใช้ระบบเดิมที่มีเสถียรภาพ ปลอดภัย และประชาชนมีความคุ้นชิน เน้นไปที่การต่อยอดและไม่ลงทุนซ้ำซ้อนรวมทั้งควรมีการส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าที่มีการผลิตในประเทศ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและต่อเนื่องให้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพของประเทศ พร้อมทั้งสอดประสานกับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทย
- ในส่วนของนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กกร. เห็นว่าเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และผู้ประกอบการยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จึงควรพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานตามทักษะ (Pay by Skill) เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานควบคู่ไปกับประสิทธิภาพแรงงาน (Productivity)
โดยที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินโครงการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแล้ว 88 สาขาวิชาชีพ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนศูนย์ทดสอบ เครื่องมือที่ไม่เพียงพอ รวมถึงงบประมาณในการสนับสนุน จึงไม่สามารถดำเนินโครงการได้เต็มศักยภาพ