“คมนาคม” เล็งนำเทคโนโลยี AI พัฒนาระบบขนส่งไทย
รมว.คมนาคม เล็งนำเทคโนโลยี AI พัฒนาโครงการขนส่งไทย หวังเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลัง Mr. David Li ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และคณะเข้าพบว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมของหัวเว่ยจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงฯ มีนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ อาทิ การพัฒนาท่าอากาศยาน และท่าเรือให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
นอกจากนี้ การขนส่งในประเทศจะเน้นการขนส่งจากทางถนนเป็นทางรางมากยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยประเทศไทยมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพี ประมาณ 14% โดยสูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 10%
ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยี AI จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานด้านระบบรางเพื่อพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนการบูรณาการในการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลแบบเรียล์ไทม์ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการขนส่งอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ Mr. David Li กล่าวว่า บริษัท Huawei มีความยินดีในการสร้างความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม ทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในระบบคมนาคมขนส่ง การพัฒนาทักษะและการฝึกอบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Transportation) ของประเทศไทย โดยได้นำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งได้นำมาใช้ในคมนาคมขนส่งทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Airport) การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) การพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) การพัฒนารถไฟในเมืองอัจฉริยะ (Smart Urban Rail) และการพัฒนาถนนอัจฉริยะ (Smart Roadway)