SET รีบาวด์เหนือ 1,400 จุด! หลัง 60 วันทรุด 12% รองตลาดหุ้นเวียดนามรูด 16%
SET รีบาวด์เหนือ 1,400 จุด ตามตลาดหุ้นเอเชีย ขานรับเฟดมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยเดือนพ.ย. ไว้ที่ 5.25-5.50% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 หลังจากช่วง 2 เดือนระหว่างก.ย.-ต.ค. ดัชนีลงไป 12% รองตลาดหุ้นเวียดนามที่ลงไป 16% ฟาก บล.กรุงศรี พัฒนสิน คาดว่าแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสรีบาวด์แข็งแกร่งขึ้นไปอีก 4-5 สัปดาห์ เชื่อว่า ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า เน้นลงทุนหุ้นลงลึก และผลประกอบการแกร่ง ชู GULF-GPSC-KCE-CPAXT
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (2 พ.ย.66) SET Index รีบาวด์ขึ้นมาปิดที่ระดับ 1,403.99จุด บวกไป 24.03 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.44 หมื่นล้านบาท ซึ่งบวกตามตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียบวกกันทั่วหน้า ตอบรับผลการประชุมนโยบายการเงินรอบเดือน พ.ย.ว่าเฟดมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 (ระดับสูงสุดรอบ 22 ปี)
ส่วนท่าทีของเฟดยังไม่ปิดโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบต่อไป หลัง GDP GROWTH สหรัฐฯในไตรมาส 3/2566 เพิ่มขึ้น 4.9% จากไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัวสูงกว่าคาดมาก รวมถึงภาคแรงงานยังแข็งแกร่ง ทั้งนี้เฟดยังคงมุ่งเป้าให้เงินเฟ้อลงมาสู่กรอบ 2% อย่างยั่งยืน พร้อมกับย้ำว่ายังไม่ได้มีการตัดสินใจกับการดำเนินนโยบายในเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งต้องรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจและคณะกรรมการจะทำในสิ่งที่คิดว่าเหมาะสมในขณะนั้นเสมอ
ขณะที่ FED WATCH TOOL เผยผลสำรวจพบว่ามีโอกาสสูงถึง 80% ที่เฟดจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.5% ในการประชุมรอบเดือน ธ.ค. และมีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยไปจนถึงกลางปี 2567 โดยจากข้อมูลในอดีตของช่วงที่เฟดตรึงดอกเบี้ย มักจะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับดอลลาร์ที่อ่อนค่า หรือชะลอการแข็งค่าลง ปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักให้ค่าเงินบาทแข็งค่า และเป็นทิศทางที่ดีต่อ FUND FLOW ในการไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น หลังจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาลงไปหนักเกือบ 200 จุด
สำหรับช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ (1 ก.ย.-31 ต.ค. 66) ดัชนีตลาดหุ้นไทย(SET Index) เคลื่อนไหวลักษณะ Sideway Down และลงลึกจนเข้าเขต Oversold ซึ่งปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 1,381.83 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 1,565.94 จุด ลบไป 184.11 จุด หรือลงไป 11.76%
ทั้งนี้ สอดคล้องกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียในช่วงเดียวกัน เช่น ดัชนีตลาดหุ้นAustralia (XAO) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 6,967.50 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 7,517.80 จุด ลบไป 550.30 จุด หรือลงไป 7.32% , ดัชนีตลาดหุ้น Japan(R_NIKKEI) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 30,858.85 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 32,619.34 จุด ลบไป 1760.49 จุด หรือลงไป 5.40%
ดัชนีตลาดหุ้น Korea (KOSPI) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 2,277.99 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 2,556.27 จุด ลบไป 278.28 จุด หรือลงไป 10.89%, ดัชนีตลาดหุ้น Taiwan (TAIEX) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 16,001.27 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 16,634.51จุด ลบไป 633.24 จุด หรือลงไป 3.81%, ดัชนีตลาดหุ้น Hong Kong (HIS) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 17,112.48 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 18,382.06 จุด ลบไป 1,269.58 จุด หรือลงไป 6.91
ดัชนีตลาดหุ้น Singapore (STI) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 3,067.74 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 3,233.30จุด ลบไป 165.56 จุด หรือลงไป 5%, ดัชนีตลาดหุ้น Malaysia (FBKLCI) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 1,442 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 30 ส.ค. 66 อยู่ที่ 1,452 จุด ลบไป 10 จุด หรือลงไป 0.68%, ดัชนีตลาดหุ้น China (SSEC) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 3,018.77 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 3,119.88 จุด ลบไป 101.11 จุด หรือลงไป 3.24%
ดัชนีตลาดหุ้น Phillipines (PSE) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 5,973.78 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 6,175.25 จุด ลบไป 201.47 จุด หรือลงไป 3.26% , ดัชนีตลาดหุ้น Vietnam (VNI) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 1,028.19 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 1,224.05 จุด ลบไป 195.86 จุด หรือลงไป 16% และ ดัชนีตลาดหุ้น Indonesia (JSX) ปิด ณ วันที่ 31 ต.ค.66 อยู่ที่ 6,752.21 จุด เทียบกับ ณ ปิดวันที่ 31 ส.ค. 66 อยู่ที่ 6,953.26จุด ลบไป 201.05 จุด หรือลงไป 2.89%
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียในรอบ 2 เดือนระหว่างวันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค. 66 พบว่า ลงหนักสุดกลายเป็นดัชนีตลาดหุ้น Vietnam (VNI) ซึ่งลงไปมากถึง 16% ตามด้วยตลาดหุ้นไทย (SET Index) ลงไป 11.76% ถัดมาดัชนีตลาดหุ้น Korea (KOSPI) ลงไป 10.89%ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นอื่นลงต่ำกว่า 10% ตามข้อมูลปรากฎอยู่ข้างบน
ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ KCS เปิดเผยในรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด”(2 พ.ย. 2566) ว่าอย่างไรก็ดีแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีโอกาสรีบาวด์อย่างแข็งแกร่งขึ้นไปอีกประมาณ 4-5 สัปดาห์ และมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่บริเวณ1,400–1,600 จุด
โดยจะเริ่มรับแรงหนุนจากเงินลงทุนของต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย และสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากยิงขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมมีแนวโน้มว่าจะเป็นระดับจุดสูงสุดแล้ว สืบเนื่องจากคำถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลยังมีความกังวลต่อภาวะตึงตัวด้านการเงินและสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
อย่างไรก็ตามแนะกลยุทธ์การลงทุน หาราคาหุ้นปรับตัวลงหนักช่วงก่อนหน้า แล้วมีโอกาสรีบาวด์ขึ้นแข็งแกร่งกว่าตลาด รวมถึงคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 จะออกมาดีอย่างกลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี อย่าง บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE และกลุ่มค้าปลีก คาดการร์ว่าได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับตัวลง พร้อมเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นในไตรมาส 4/66 ส่งผลภาคอุปโภคและบริโภคกลับมาฟื้นตัว ทำให้บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT จะได้รับประโยชน์เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังจับตาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่น่าสนใจในการลงทุน เช่น บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC และ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC