“เศรษฐา” ไม่ถอยดิจิทัลวอลเล็ต จับตา 10 พ.ย. “ไทม์ไลน์-กติกา” ชัดเจน

“เศรษฐา ทวีสิน” เผยความคืบหน้าดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยืนยันไม่ถอยหลัง เตรียมเปิดรายละเอียดชัดเจน 10 พ.ย.นี้


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ จะมีรายละเอียดออกมา รวมถึงขั้นตอน ไทม์ไลน์ กฎกติกาที่ชัดเจน

“สื่ออาวุโสหลายรายก็เตือนมา ผู้ว่า ธปท. ไม่ได้ติดอะไร แต่ให้ระวังในเรื่องนี้ ให้เขียนภาพระยะยาว เวลาที่ออกมาแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจในเชิงบวกอย่างไร รวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้นเวลาที่จะแถลงต้องแถลงให้ครบทั้งหม”ด เมื่อเวลามีคำถามอะไรจะได้ตอบได้” นายเศรษฐา กล่าว

พร้อมยืนยันว่า ไม่มีความคิดที่จะถอยหลัง จะต้องทำ และต้องทำออกไปให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่สุด ให้คนได้รับผลประโยชน์สูงสุด

ส่วนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” มีส่วนร่วมแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของการให้ความสะดวกและง่ายให้กับประชาชนใช้นโยบายนี้ได้อย่างสบายใจ

“การกำหนดพื้นที่ใช้ หรือการระบุให้ถอนใช้เป็นเงินสด แล้วไปใช้ที่จังหวัดอื่นนั้นตนบอกว่าไม่ได้ อย่างที่ จ.เชียงใหม่หรือ กทม. เมืองเหล่านี้เขียวอยู่แล้ว อยากให้ไปใช้ในเมืองที่มีจีดีพีรายได้ต่อหัวต่ำ อยากให้หญ้าพื้นที่ตรงนั้นเขียว ก็จะทำให้ชุมชนและเศรษฐกิจพื้นที่เหล่านั้นเฟื่องฟูลืมตาอ้าปากได้ ส่วนที่มีการบอกว่าให้ไปซื้อของออนไลน์ได้นั้น ตอบไม่ได้หมดตรงนี้ นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่จะออกมานั้น ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินจะดีกว่า ทุกนโยบายมีความสำคัญ และกรณีที่สื่อบางสำนักได้ทำโพลสำรวจมา เห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจปากท้องเป็นสิ่งสำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องหนี้ครัวเรือน ซึ่งตนได้ประชุมไปแล้วในเรื่องของหนี้ครัวเรือน รวมไปถึง 30 บาทรักษาทุกโรค และมีอีกหลายเรื่องสำคัญ แม้แต่เรื่องการบริหารจัดการน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกร 30-40 ล้านคนรอเรื่องนี้อยู่ ภาคอุตสาหกรรมและเรื่อง EEC ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีเรื่องอะไรที่ตนจะด้อยค่า ซึ่งต้องทำเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง

นายกฯ ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำเรื่องใหญ่ ๆ อย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้มีความรู้ต่าง ๆ มากมายที่ให้คำแนะนำ ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องรับฟังทุกส่วน และเป็นคนตัดสินว่าตรงไหนมีความเหมาะสมมากที่สุด ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไม่ทำ ไม่รับฟังหรือดื้อที่จะทำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่คณิตศาสตร์ เพราะคณิตศาสตร์ 1 + 1 เป็นสอง ส่วนเศรษฐศาสตร์เขามีมุมมองของแต่ละคน

Back to top button