เปิดโผ 17 หุ้น รับอานิสงส์ “เงินเฟ้อ” ชะลอตัว

แนะสอย 17 หุ้น ได้รับประโยชน์อานิสงค์เชิงบวกจากภาวะเงินเฟ้อไทยชะลอตัว โบรกมองแนวโน้มเงินเฟ้อไทยต่ำ อาจหนุนรัฐบาลอัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่กว่าเดิม


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค.66 อยู่ที่ 107.72 ลดลง 0.31% เทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไป 10 เดือนแรกของปีนี้ เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.60%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ 104.46 เพิ่มขึ้น 0.66% เทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 10 เดือนแรกของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.41%

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.31% เทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน เป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งเนื้อสุกรและผักสดที่ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สอดคล้องกับฝ่ายนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ล่าสุดเช้านี้เวลา 10:30 น. รอติดตามการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อไทยเดือนตุลาคม โดย CONSENSUS คาดการณ์ HEADLINE CPI เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนชะลอตัวลงจากเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ CORE CPI คาดการณ์เพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนย่อตัวจากเดือนก่อนที่ 0.63 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

สำหรับภาพรวมของเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เชื่อว่าจะมาจากราคาน้ำมันที่หดตัว โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ในเดือนตุลาคม 2566 ไม่ได้ขยายตัวมากเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงภายในเดือนยังย่อตัวลงราวลดลง 10.8% บวกกับเป็นช่วงที่รัฐบาลช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ทั้งค่าน้ำมันและค่าไฟ

โดยเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจีนที่ 0.0% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และยังเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับ กนง. มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 2.5% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ย – เงินเฟ้อ) ของบ้านเราบวกขึ้นมาค่อนข้างสูง

ดังนั้นฝ่ายวิจัยรวบรวมหุ้นเด่นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงค์เชิงบวกจากภาวะเงินเฟ้อไทยชะลอตัว ดังนี้

กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7, บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO

กลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW,

กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI, บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH, บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC, บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP

กลุ่มเช่าซื้อ ได้แก่ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD

สำหรับในอีกแง่มุมหนึ่งของแนวโน้มเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับต่ำ อาจหนุนให้ภาครัฐสามารถอัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่มากขึ้น ขณะที่ล่าสุดมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยนายกฯ ได้เคาะแผนเปิดสถานบริการถึงตี 4 ชั่วคราวใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กทม., ชลบุรี, เชียงใหม่, ภูเก็ต โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566

ขณะที่ในระยะถัดไปยังมีนโยบาย DIGITAL WALLET ซึ่งรอรายละเอียดความชัดเจนในวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 อีกทั้งนายกฯ ยังได้มีการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล ทั้งนี้เตรียมติดตามโครงการใหญ่ที่เตรียมเปิดตัวกลางเดือนธันวาคม โดยมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรองเป็นหลักสรุป เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามราคาพลังงาน

รวมถึงเป็นช่วงที่ภาครัฐช่วงลดค่าครองชีพโดยการลดค่าน้ำและค่าไฟ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ อาจหนุนให้ภาครัฐสามารถอัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ได้มากขึ้น และน่าจะเป็นกระแสบวกต่อตลาดหุ้น เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีก อาทิ ERW, AOT, CPALL, CRC, COM7

Back to top button