Kospi ปิดพุ่ง 6% หลังสั่งห้าม “ขายชอร์ต” เหตุทำตลาดผันผวน
ดัชนี Kospi ปิดพุ่งเฉียด 6% หลังคณะกรรมการ FSC ออกมาตรการห้ามทำการขายชอร์ตหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (6 พ.ย.66) ไปจนถึงเดือนมิ.ย. 67
จากกรณีข่าว คณะกรรมการด้านบริการการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) ออกมาตรการห้ามทำการขายชอร์ตหุ้น (short-selling) ในบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (6 พ.ย.66) ไปจนถึงเดือนมิ.ย. 67
ทั้งนี้ นายคิม จู-ฮยุน ประธาน FSC ออกแถลงการณ์ว่า การออกคำสั่งห้ามขายชอร์ตมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงกฎระเบียบและระบบการซื้อขายในตลาดหุ้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน
ด้าน นายลี บอค-ฮยุน ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการเงินของเกาหลีใต้ (FSS) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้มีธนาคารต่างชาติประมาณ 10 แห่งที่อาจจะเข้าข่ายถูกตรวจสอบว่ามีการขายชอร์ตอย่างผิดกฎหมายในตลาดหุ้นเกาหลีใต้
ขณะที่ล่าสุด ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (Kospi) ปิดเพิ่มขึ้น 5.66% เป็นผลมาจากมาตรการห้ามทำการขายชอร์ตหุ้น (short-selling) ในบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยจากการตรวจสอบของทีมข่าวหุ้นออนไลน์พบว่า การแบนนั้นส่วนหนึ่งมาจากการเรียกร้องของนักลงทุนรายย่อยที่มีประสบการณ์น้อยและมีสัญญาสิทธิล่วงหน้า (options) ที่จำกัด ส่งผลให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวนี้ขาดทุนหนัก
โดยการที่เกาหลีใต้แบนชอร์ตเซลครั้งนี้ นับเป็นรอบที่ 4 ซึ่งก่อนหน้านี้คือปี 2551 จากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ถัดมาในปี 2554 เนื่องจากยุโรปขาดสภาพคล่อง และในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 โดยทั้งสามครั้งที่ผ่านมา มีการประกาศใช้มาตรการห้ามทำการขายชอร์ตหุ้น หลังจากมีวิกฤติทางเศรษฐกิจทุกครั้ง
สำหรับการออกมาตรการว่าแบนดัชนี Kospi 200 กับ Kosdaq 150 ไม่ใช่มีเพียงแค่สองดัชนีนี้ที่โดนแบน ในความเป็นจริงแล้วในปี 2563 มีการแบนทั้ง Kospi 200, Kosdaq 150 และ small-cap Konex โดยในครั้งนั้นออกมาตรการจำกัดการซื้อหุ้นคืนของบริษัทด้วยเป็นเวลา 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการโรคระบาดโควิด-19 นั้น เกาหลีใต้มีมาตรการยกเลิกการแบนในบางส่วนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งจะเปิดให้มีการชอร์ตหุ้น big-cap ใน Kospi 200 กับ Kosdaq 150 ได้ในขณะที่หุ้นตัวอื่นๆ ยังติดแบนอยู่
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้เพิ่มเงื่อนไขการแบนชอร์ตหุ้นรายตัว คือ 1. หากอัตราส่วน short position เกิน 30% 2. ราคาหุ้นร่วงกว่า 3% และ 3. ปริมานชอร์ตเพิ่มเป็น 2 เท่า โดยหากเข้าเกณฑ์ดังกล่าวตลาดจะทำการแบน 1 วัน และหากราคาหุ้นตกเกินกว่า 5% ต่อวันก็อาจแบนติดกัน 3 วันติดต่อกันได้ ซึ่งในปี 2562 เคยมีการแบนชอร์ตหุ้นรายตัวนาน 1 วัน ถึง 690 ครั้ง