GPSC ค่าเอฟที-FX พุ่ง ดันกำไร Q3 ทะลุ 1.7 พันล้าน โต 4 เท่าตัว

GPSC โชว์กำไรไตรมาส 3/66 ทะลุ 1.7 พันล้านบาท โต 441% จากปีก่อนมีกำไร 331 ล้านบาท รับค่าเอฟทีและอัตราแลกเปลี่ยนพุ่ง ดันงวด 9 เดือนแรกกำไรโต 142% แตะ 3.2 พันล้าน สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ โบรกยังคงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 63 บาท


บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/2566 และงวด 9 เดือนแรกของปี 66 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ดังนี้

สำหรับ GPSC รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/66 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,789.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 440.83% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 330.89 ล้านบาท เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานในส่วนของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยค่า Ft ที่สามารถสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานได้ดีขึ้น

รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงเพิ่มขึ้น 188 ล้านบาท 2. กำไรจากการประเมินราคาตลาดของตราสารอนุพันธ์ เพิ่มขึ้น 211 ล้านบาท 3. ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เพิ่มขึ้น 272 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 66 มีกำไรสุทธิ 3,216.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142.23% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 1,327.86 ล้านบาท เป็นผลมาจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้น 4,992 ล้านบาท สาเหตุหลักจากปัจจัยค่า Ft ที่สามารถสะท้อนต้นทุนราคาพลังงานได้ดีขึ้น ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาต้นทุนพลังงานลดลง

บล.ฟิลลิป ระบุว่า คาดการณ์กำไรไตรมาส 3/66 จะโตได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงชดเชยรายได้ที่ลดลงจากค่า Ft รวมถึงกำไรจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีที่เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ทางฝ่ายมีการปรับราคาพื้นฐานลงเพื่อสะท้อนความไม่แน่ นอน ด้านนโยบายภาครัฐ แต่มองว่าราคาซื้อขายปัจจุบันมี upside พอสมควร โดยมองว่าเป็นโอกาสสะสมหุ้นสำหรับลงทุนระยะยาว เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตในมือสำหรับเติบโตระยะยาว

ด้าน นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2566 ของบริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,044 ล้านบาท ลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากราคาขายเฉลี่ยไฟฟ้าและไอน้ำที่ลดลงตามต้นทุนราคาพลังงาน ประกอบกับโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) บางส่วนมีการเรียกรับไฟฟ้าลดลง

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,459 ล้านบาท หรือคิดเป็น 441% โดยปัจจัยหลักจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของ IPP มีรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (AP) ที่ปรับตัวดีขึ้น จากการหยุดซ่อมบำรุงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,481 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 479% เป็นผลมาจากมาร์จิ้นการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้า SPP ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 ที่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ได้กลับมาเดินเครื่องตามปกติแล้ว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงุทุนในบริษัทร่วม และการร่วมค้าเพิ่มขึ้น โดยหลักจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี จากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และได้รับเงินปันผลจากบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด (RPCL)

ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 3,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 142% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนแรกปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 1,328 ล้านบาท

โดยในปีนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นการบริหารจัดการในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ผ่านการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเป็นลำดับแรก (merit order) เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด รวมทั้งมุ่งเน้นการดำเนินงานด้าน synergy เพื่อบริหารจัดการการผลิต การใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน พร้อมกับมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามเป้าหมายและกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อรักษาระดับมาร์จิ้นที่ดี พร้อมทั้งเดินหน้าขยายพอร์ตการลงทุนสีเขียวอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและการเตรียมความพร้อมภายใต้สถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก

Back to top button