TSE รายได้ขาย-บริการทะลัก! ดันกำไร 9 เดือน ทะลุ 500 ล้าน

TSE กวาดรายได้ 9 เดือนแรกเฉียด 2 พันล้าน โต 32% กำไรแตะ 506 ล้านบาท หลังรับรู้รายได้โครงการใหม่โรงไฟฟ้าญี่ปุ่น ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ “ออลไทม์ไฮ”


ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 กลุ่มบริษัทฯมีรายได้จากการขาย และการให้บริการรวมจำนวน 559.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 226.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 68% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งเท่ากับ 332.9 ล้านบาท  และมีส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 150.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.4 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่นๆ รวม 712.3 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 120.6 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งเท่ากับ 121.5 ล้านบาท 

เนื่องจากในไตรมาสนี้กลุ่มบริษัทฯมีการบันทึกรายการพิเศษซึ่งเป็น non-cash item ขาดทุนจากการจำหน่ายอุปกรณ์จำนวน 52.2 ล้านบาทซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าวจะทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรถึง 172.8 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 51.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.2

 สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวมเป็นจำนวน 1,388.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 391.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.3 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งเท่ากับ 997.1 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 539.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่นๆ รวม 1,972.8 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 506.1 ล้านบาท ลดลง 125 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งเท่ากับ 631.1 ล้านบาท เนื่องจากเมื่องวด 9 เดือนแรกของปีก่อน กลุ่มบริษัทฯ มีรายการพิเศษจากการรับรู้กำไรจากการจำหน่ายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 234.4 ล้านบาท

 อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการกำไรพิเศษดังกล่าว กลุ่มบริษัทฯ จะมีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปีก่อนเท่ากับ 396.6 ล้านบาท เป็นผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด 9 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 109.4ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

โดยกำไรจากการดำเนินงานไตรมาสที่ 3/2566 ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนนั้น มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและให้บริการในเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตตามสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าญี่ปุ่น 133 เมกะวัตต์  “โครงการโอนิโกเบ (Onikoube)” เต็มไตรมาส และการประกาศปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมไปถึงการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่องในกลุ่มต้นทุนเชื้อเพลิงของโครงการชีวมวล (Biomass) 

 ดร.แคทลีน กล่าวอีกว่า กลุ่มบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้ (รวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้า) จะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Onikoube ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วในไตรมาส 2/2566 ที่ผ่านมา

 นอกเหนือจากการชนะประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบที่ 1 เป็นจำนวน 88.66 เมกะวัตต์ แล้ว กลุ่มบริษัทยังเตรียมความพร้อมเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการจัดหาไฟฟ้าฯ รอบที่ 2 ที่มีโควตาออกมา 3,668.5 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ อีกทั้งกลุ่มบริษัทฯ ยังศึกษาโครงการ Waste to Energy หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานจากขยะ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเจรจากับผู้เกี่ยวข้อง และอยู่ระหว่างศึกษาโครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ทั้งนี้หากเดินหน้าโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่าพันล้านบาท กลุ่มบริษัทฯเชื่อว่าโครงการดังกล่าวสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง หนุนผลงานโตก้าวกระโดดแน่นอน

 ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทฯ ได้เริ่มรุกธุรกิจ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) หรือ ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนอาคาร รวมไปถึงการติดตั้งบนบ่อน้ำ (Solar Floating) ของผู้ประกอบการธุรกิจแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์การลงทุน การออกแบบ การติดตั้ง ไปจนถึงการบำรุงรักษา อีกทั้งยังมีการรับประกันตลอดอายุสัญญา ตามความต้องการของผู้ประกอบการหรือองค์กร โดยองค์กรไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรยังสามารถเลือกรูปแบบการติดตั้งและการบริหารค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งานขององค์กร เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสำหรับการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า เพื่อผลกำไรในการดำเนินธุรกิจที่มากขึ้นในระยะยาว โดยธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะเข้ามาสนับสนุนฐานรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทฯ มากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

Back to top button