“กสทช.” มติ 4:1 ไฟเขียว! ควบรวม “AIS-3BB”

มติบอร์ด “กสทช.” 4:1 เสียง "อนุญาต AIS-3BB ควบรวมกิจการแบบมีเงื่อนไข" หนุน AIS ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ผู้นำตลาดบรอดแบนด์ที่มีลูกค้า 4.69 ล้านรายทันที


เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ว่า ตามที่บอร์ด กสทช.มีการกำหนดให้วันนี้ (10 พ.ย.) เป็นวาระการประชุมพิเศษเรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC (AIS) และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS

ภายหลังจากที่ประชุม กสทช. ประชุมวาระพิเศษเริ่มประมาณ 09.00 น. โดยบอร์ด กสทช.ทั้ง 7 ท่าน เข้าร่วมประชุมพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม เวลาราว 13.00 น. หลังพิจารณาร่วม 4 ชั่วโมง บอร์ด กสทช.ทั้ง 7 ท่าน ติดภารกิจถวายผ้ากฐินพระราชทาน และกลับมาลงมติอีกครั้งในเวลาราว 15.30 น. ซึ่งมีบอร์ด กสทช.เข้าร่วมประชุมในช่วงบ่าย จำนวน 5 ท่าน ซึ่งสิ้นสุดการประชุมเวลา 18.20 น. โดยใช้เวลาพิจารณารวมกว่า 6 ชั่วโมง (ไม่รวมช่วงออกไปทำภารกิจ)

สำหรับมติที่ประชุม โดยบอร์ด กสทช. 4 เสียง ลงมติให้อนุญาตควบรวมธุรกิจแบบมีเงื่อนไข ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม

ขณะที่ 1 เสียง นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้ใช้สิทธิ งดออกเสียง

ขณะที่อีก 2 เสียง ได้ลงมติรับทราบ ไปตั้งแต่ช่วงเช้า และไม่ได้เข้าร่วมประชุมในช่วงบ่าย ประกอบด้วย นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย เนื่องจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน

อย่างไรก็ตาม การควบรวมแบบมีเงื่อนไขจะมีการลงความเห็นของบอร์ด กสทช. 7 ท่าน ทั้งนี้ภายหลังจากการควบรวม กสทช.จะออกมาตรการและเงื่อนไขให้บริษัทผู้ขอควบรวมดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดจำนวน 3 ประเด็น และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อให้บริษัท AWN และบริษัท TTTBB ปฏิบัติ ดังนี้

1.ประเด็นเรื่องอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ

1.1 ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด

1.2 ห้ามขึ้นราคาและลดคุณภาพการให้บริการ โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) ซึ่งมีราคาต่ำที่สุด ที่มีอยู่ก่อนการรวมธุรกิจ และแจ้งให้ กสทช. ทราบ พร้อมทั้งจะต้องคงคุณภาพการให้บริการและราคาสำหรับรายการส่งเสริมการขาย (Package) ดังกล่าว เป็นระยะเวลา ๕ ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ

1.3 มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ

1.4 คุ้มครองผู้ใช้บริการรายปัจจุบัน โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) คุณภาพการให้บริการ และราคาแก่ลูกค้า ที่มีการใช้บริการอยู่ก่อนการรวมธุรกิจจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาให้บริการซึ่งทำไว้กับผู้ให้บริการรายนั้น เว้นแต่ผู้ใช้บริการตกลงยกเลิกการใช้บริการ หรือผู้ใช้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรายการส่งเสริมการขาย (Package) ภายหลังการรวมธุรกิจด้วยตัวเอง เป็นระยะเวลา ๕ ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจ

1.5 รักษาคุณภาพการให้บริการ (QoS)  ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัด และต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ด้อยไปกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (Call center) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ

1.6 อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ โดยต้องจัดช่องทางการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ครอบคลุมและง่ายต่อการเลือกซื้อ เปลี่ยนแปลง (เพิ่ม /ลด) การใช้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ได้ตามความต้องการของผู้ใช้บริการปลายทาง โดยปราศจากข้อจำกัด ทั้งนี้ ต้องแสดงรายละเอียดของบริการ อัตราค่าบริการแยกตามรายบริการ หรืออัตราค่าบริการแบบส่งเสริมการขาย ตลอดจนวิธีการ เงื่อนไขการเลือกรับบริการไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นปัจจุบัน

1.7 ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการให้บริการที่ครบถ้วนแก่ผู้ใช้บริการ โดยต้องกำหนดและแสดงอัตราค่าบริการแยกตามรายบริการ (Unbundle) หรือการส่งเสริมการขายแบบแยกรายบริการ (Unbundle Package) เช่น แยกอัตราค่าบริการเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ออกจากอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และกล่องรับชมรายการโทรทัศน์และคอนเทนต์ ความบันเทิง เพื่อให้ผู้ใช้บริการปลายทางได้รับทราบก่อน

1.8 ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าจะคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ

1.9 นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม ให้ครบถ้วน โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่ง กสทช. ทุก ๓ เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ

1.10 จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทาน (Verify) ข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูลด้านอัตราต่างๆ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า ๕ ปี โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนด และให้บริษัท AWN เป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการจัดหาและจัดจ้างที่ปรึกษา ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมของทั้งสองบริษัท เพื่อสอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตามข้อ ๑.๙ ของทั้งสองบริษัท โดยจัดให้มีที่ปรึกษานี้เป็นระยะเวลา ๕ ปี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือนหลังการรวมธุรกิจ

1.11 ยึดหลักความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต (Net Neutrality) โดยไม่จัดให้คุณภาพบริการแตกต่างกันเพียงเพราะว่าเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายอื่น

1.12 แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการรวมธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการบางประการ เช่น การเปลี่ยนชื่อผู้ให้บริการ ช่องทางในการติดต่อ แอปพลิเคชัน และศูนย์รับเรื่อง

  1. ประเด็นเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย

เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขข้อกังวลในเรื่องภูมิศาสตร์ที่อาจมีการแข่งขันน้อยรายในบางพื้นที่ และเพื่อคงระดับการแข่งขันให้อยู่ในระดับเดิม โดยแก้ไขอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการ รายใหม่ และเพื่อส่งเสริมให้มีผู้ประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองในพื้นที่เฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาการแข่งขันในทางภูมิศาสตร์ (Geographic Coverage) ในบางพื้นที่ที่อาจมีผู้แข่งขัน น้อยราย ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายหรือโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเข้ามาแข่งขันใน ตลาดได้ รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจตลาดกีดกันหรือสร้างอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของผู้รับ ใบอนุญาตรายอื่น จึงกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจ (Ex Post) สำหรับผู้รวมธุรกิจ สำหรับบริษัท AWN และบริษัท TTTBB ดังต่อไปนี้

2.1 เปิดให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่าย (open access) ให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายของตัวเองในการให้บริการ โดยมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของบริการค้าส่งบริการเข้าถึงบรอดแบนด์ในทุกเทคโนโลยีที่ให้บริการ พร้อมทั้งเอกสารประกอบข้อเสนอดังกล่าวที่แสดงหลักการและวิธีการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมในลักษณะที่อ้างอิงต้นทุน และนำส่งให้สำนักงาน กสทช. ภายใน ๖๐ วันหลังจากที่มีการรวมธุรกิจ

2.2 เปิดการให้บริการ Fixed Broadband Service Unbundling ในระดับค้าส่ง (Wholesale) ทุกพื้นที่บริการของทั้งสองบริษัท ภายใต้หลักการ Cost-based Basis  และราคาไม่เกินอัตราที่ กสทช. กำหนดสำหรับผู้ร้องขอใช้บริการดังกล่าว โดยต้องสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในระยะเวลา ๖๐ วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องขอแสดงความประสงค์ขอใช้บริการ

2.3 จัดทำแผนขยายโครงข่าย Fixed Broadband Access ไปยังพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ โดยอาจใช้รูปแบบ Fixed Wireless Access เพื่อขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่ที่ยังไม่มีโครงข่ายในปัจจุบัน โดยเพิ่มเติมจากแผนการลงทุนปกติประจำปีและไม่นับรวมโครงการที่ได้รับการอุดหนุนจาก ภาครัฐ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวให้ครอบคลุมระยะเวลา ๕ ปี โดยต้องมีรายละเอียดแผนการลงทุนรายปี และ กำหนดจำนวนเงินที่จะนำไปลงทุนในการขยายโครงข่าย Fixed Broadband Access ดังกล่าวข้างต้นไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาทในระยะเวลา ๕ ปี ทั้งนี้ต้องเสนอแผนดังกล่าวให้ กสทช. เห็นชอบก่อน และให้ดำเนินการตามแผนที่ กสทช. เห็นชอบ โดยให้นำส่งผลการดำเนินการ แก่ กสทช. ทุก ๖ เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ เพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบ

2.4 ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองได้รับสิทธิ เงื่อนไขในการเข้าใช้โครงข่าย (Open Access) ได้เช่นเดียวกับบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทในเครือของทั้งสองบริษัท

2.5 ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองที่เข้าใช้บริการโครงข่ายต้องได้รับการประกันสิทธิในการได้รับบริการภายใต้คุณภาพการให้บริการ (QoS) ตามมาตรฐานการให้บริการตามประกาศของ กสทช. หรือที่ กสทช. กำหนด

2.6 ห้ามปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง อันเกิดมาจากเหตุผลความไม่เพียงพอของโครงข่าย หรือตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด

2.7 ไม่กำหนดปริมาณและราคาขั้นต่ำของการเช่าใช้บริการโครงข่ายของผู้รับใบอนุญาตที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง เพื่อให้สามารถเช่าใช้บริการโครงข่ายของทั้งสองบริษัทเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งนี้ การเรียกเก็บค่าบริการให้เป็นไปตามการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง

2.8 เปิดโครงข่ายให้ผู้ให้บริการรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายของตนเองในการให้บริการภายในอาคารหรือพื้นที่ส่วนบุคคลโดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งในด้านการเข้าถึงบริการและด้านราคา

3.กลไกการติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจ

3.1 รายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. เป็นราย ๖ เดือน หรือตามแต่ระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด ตามแบบที่ กสทช. กำหนด ไว้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๕ ปี

3.2 ภายหลังการรวมธุรกิจ หาก กสทช. พิจารณาหรือได้รับการร้องเรียนว่ามีการกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กิจการโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญทำให้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพ กสทช. อาจระงับ ยกเลิก เพิ่มเติม หรือปรับปรุงเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากบอร์ด กสทช.มีมติออกมาดังกล่าวแล้ว หากพิจารณาจากผลประกอบการไตรมาส 3/2566 จะพบว่า AIS มีลูกค้าอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ จำนวน 2.38 ล้านราย ขณะที่ TRUE มีลูกค้าบรอดแบนด์ จำนวน 3.8 ล้านราย ส่วน 3BB จากการตรวจสอบล่าสุดมีลูกค้า จำนวน 2.31 ล้านราย ดังนั้น หากควบรวมธุรกิจแล้วเสร็จจะทำให้ AIS มีลูกค้าอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์อยู่ที่ 4.69 ล้านราย ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดทันที ส่วนผู้เล่นอีกรายคือ NT ปัจจุบันมีลูกค้าราว 1.8 ล้านราย

อย่างไรก็ตามการควบรวมกิจการระหว่าง ADVANCE – 3BB แตกต่างจากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC เนื่องจาก ADVANCE เสนอเรื่องให้ กสทช.มีมติอนุญาต แม้ก่อนหน้านี้ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. จะเห็นว่าควรเป็นการรับทราบ เช่นเดียวกับกรณีของ TRUE-DTAC จึงแต่คณะกรรมการ กสทช. 5 คนเห็นว่าควรเป็นการพิจารณาอนุญาต จึงเป็นที่มาที่มี กสทช.เพียง 5 คนลงมติ ก่อนที่จะมีมติ 4:1 อนุญาตควบรวมกิจการในครั้งนั้

Back to top button