“ศรีสุวรรณ” ร้องผู้ตรวจการฯ ส่งศาลวินิจฉัยปมออก “พ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัล” ส่อขัด รธน.

"ศรีสุวรรณ" ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาทให้คนไทย 50 ล้านคน โดยจะใช้เงินจะใช้เงิน 5 แสนล้านบาท ภายในครั้งเดียว ส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 หรือไม่


นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน จากกรณีการแถลงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยบอกว่าเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงมาในช่วงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่อง

โดยนายเศรษฐา เผยถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้กับโครงการนี้ว่า จะไม่มีการกู้มาโดยเด็ดขาด แต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาก็ได้เห็นความตระบัตสัตย์ของนายกรัฐมนตรี ว่าเงินที่จะนำมาใช้ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงิน และยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งกฎหมายใหญ่ที่สุดคือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 140 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การที่จะใช้เงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะการออกกฎหมายเป็นเงินงบประมาณที่ว่าด้วยการเงินการคลังและกฎหมายวินัยการเงินการคลังเท่านั้น เว้นแต่จะเป็นเรื่องของการจำเป็นเร่งด่วนที่กฎหมายจะเปิดโอกาสให้

ทั้งนี้พอเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนก็ต้องมาดูอีกกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติ วินัยการเงินปี 2561 ที่ระบุไว้ชัดเจนในมาตรา 53 ว่า การที่จะกู้เงินของรัฐนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยหนี้สาธารณะ มีเหตุที่จะดำเนินการได้สี่กรณีก็คือ ต้องเป็นเหตุเร่งด่วน ต้องเป็นเหตุที่เกิดปัญหาต่อเนื่องและต้องนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และอาจจะกำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน แต่วันนี้ถามว่ามีเหตุจำเป็นอะไรที่เป็นเร่งด่วน โควิดก็จบสิ้นไปแล้ว สงครามรัสเซียยูเครน ก็มีผลกระทบต่อประเทศไทยน้อยมาก หรืออิสลามกับอิสราเอลก็ไม่ได้กระทบกับคนไทยมากมายนัก เว้นแต่กระทบต่อคนงานที่เดินทางไปทำงาน

ส่วนเรื่องของการต่อเนื่องในการใช้งบประมาณ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะใช้เงิน 500,000 ล้านบาท ภายในครั้งเดียว และจบไปเลย ฉะนั้นจึงไม่มีความต่อเนื่อง หากจะต่อเนื่องได้ต้องให้คนไทยทั้ง 70 ล้านคนช่วยกันใช้หนี้ ใช้ดอกเบี้ยเงินกู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศต้องมองว่าห่างไกล หากจะอ้างว่าประเทศไทยวิกฤติมองว่าก็เป็นวิกฤติกันทั่วโลก และหากเป็นวิกฤติจริง ทำไมออกเป็นพระราชบัญญัติ ไม่ออกเป็นพระราชกำหนด

ส่วนเรื่องสุดท้ายคือการตั้งงบประมาณไม่ทัน ซึ่ง ณ วันนี้ งบประมาณปี 2567 รัฐบาลก็ยังไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุมสภายังอยู่ในวาระการตั้งงบประมาณของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นหากจะใช้ช่องทางนี้รัฐบาลก็แค่แอบเพิ่มเข้าไปใน พ.ร.บ.งบประมาณ แต่ที่ไม่อยากทำเพราะว่าจะทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณ ขาดดุลอย่างมหาศาล จึงใช้วิธีการออกพระราชบัญญัติกู้เงินแทน

“การที่รัฐบาลใช้วิธีการเช่นนี้ องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เห็นว่าน่าจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 โดยชัดเจน”

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ กล่าวย้ำว่า ที่สำคัญใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ในมาตรา 9 ระบุไว้ชัดเจนว่า การดำเนินการครั้งนี้จะต้องไม่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์กับการเมือง ฉะนั้นการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ ไม่ได้มีเหตุผลประการอื่น และนายเศรษฐาก็พูด พร้อมโฆษณาชวนเชื่อมาตลอดว่า ตัวเองเป็นนักธุรกิจที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารงาน กำไรเยอะแยะ จึงสามารถบริหารเงินที่จะมาใช้ในโครงการนี้ได้ แต่สุดท้ายก็กลืนน้ำลายตัวเอง โดยการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ล้านบาท และคนที่จะต้องมาใช้เงินส่วนนี้ ก็คือ คนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือแม้แต่คนที่ไม่เข้าข่ายที่ได้เงินก็ต้องมาร่วมใช้หนี้ด้วย ฉะนั้น การโฆษณาว่า เป็นนักบริหารมืออาชีพมาตลอด แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่โฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงประชาชน

วันนี้ตนจึงมายื่นเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ใช้อำนาจ เพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อมาแจกประชาชน เหมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 140 หรือไม่ โดยเฉพาะจะขัดต่อมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังปี 2561 หรือไม่

Back to top button