ก.ล.ต.เชือด “จิรศักดิ์” ซีอีโอ WORLD พร้อมพวก 1 ราย ทุจริตซื้อขายที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง
ก.ล.ต. กล่าวโทษนายจิรศักดิ์ จิยะจันทน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WORLD และนางสาวจิรวิน หงษ์ศรี ต่อ "บก.ปอศ." กรณีกระทำทุจริต แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากการทำธุรกรรมจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นเหตุให้ WORLD ได้รับความเสียหาย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแจ้งเบาะแสและตรวจสอบพบว่า เมื่อปี 2560 นายจิรศักดิ์ จิยะจันทน์ ขณะกระทำผิดดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WORLD ได้เบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้ WORLD ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 30 ล้านบาท โดยมี นางสาวจิรวิน หงษ์ศรี เป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของนายจิรศักดิ์ ในกรณีที่ WORLD ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และได้จ่ายเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำนวน 30 ล้านบาท ให้กับบริษัทคู่ค้า
โดยจากพยานหลักฐานพิจารณาได้ว่าบริษัทคู่ค้าได้คืนเงิน จำนวน 30 ล้านบาท ให้กับ WORLD ผ่านนางสาวจิรวินและนายจิรศักดิ์แล้ว แต่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่านายจิรศักดิ์หรือนางสาวจิรวินได้นำเงินจำนวนดังกล่าวกลับไปคืนให้ WORLD แต่อย่างใด และแม้ว่าต่อมาในปี 2566 นางสาวจิรวินจะได้นำเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยไปคืนให้กับ WORLD แล้ว แต่การกระทำความผิดตามที่กล่าวข้างต้นนั้น ได้สำเร็จไปตั้งแต่มีการเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว
ทั้งนี้ การกระทำของนายจิรศักดิ์และนางสาวจิรวิน เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 2 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับการถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน นับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ
อ้างอิงข้อมูลจาก ก.ล.ต. ฉบับที่ 211/2566