TMILL กวาดรายได้ 9 เดือนแตะ 1.4 พันล้าน แจกปันผล 0.08 บ. รับทรัพย์ 23 พ.ย.นี้

TMILL รายงานงบ 9 เดือนแรกปี 66 รายได้แตะ 1.4 พันล้านบาท บอร์ดไฟเขียวปันผลระหว่างกาล อัตราหุ้นละ 0.08 บาท รับทรัพย์ 23 พ.ย.66


นางแววตา กุลโชตธาดา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน (CFO) บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL โรงงานโม่แป้งสาลีรายใหญ่และมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 3/2566 (สิ้นสุด 30 กันยายน  2566) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1.29 ล้านบาท และมีรายได้จากการจำหน่ายลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 505.23 ล้านบาท โดยลดลง 2.7% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 519.41 ล้านบาท  โดยรายได้จากการจำหน่ายแป้งสาลีลดลง 4.2% ส่วนรายได้จากการจำหน่ายรำข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 1.4% โดยที่ปริมาณจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 7.3% และ 12.4% แต่ราคาจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีเฉลี่ยลดลง 11.2% และ 1.1% ตามลำดับ

ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/2566 ลดลง 9.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจากราคาจำหน่ายแป้งสาลีที่ปรับลดลงถึง 11.2% แต่ต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น 0.3% อย่างไรก็ตามในไตรมาส3/66 นี้ บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 75.44% เพิ่มขึ้น 5.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 70.06%

สำหรับงวด 9 เดือนของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายอยู่ที่ 1,430.75 ล้านบาท ลดลง 1.1% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,446.16 ล้านบาท โดยที่รายได้จากการจำหน่ายแป้งสาลีลดลง 1.9% ส่วนรายได้จากการจำหน่ายรำข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 0.8% ทั้งนี้ มาจากปริมาณจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีลดลง 4.0% และ 5.6% ถึงแม้ว่าราคาจำหน่ายแป้งสาลีและรำข้าวสาลีเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 2.0% และ 12.2% ก็ตาม

ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากราคาจำหน่ายแป้งสาลีเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.0% แต่ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 6.5% ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 56.84 ล้านบาท ลดลง 34.51 ล้านบาท คิดเป็น 37.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ภาวะอุตสาหกรรมของตลาดข้าวสาลีและแป้งสาลีในปีที่ผ่านมา ราคาตลาดข้าวสาลีและแป้งสาลีปรับสูงขึ้นมาก แต่ปัจจุบันราคาตลาดข้าวสาลีเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จึงทำให้บางโรงโม่ทำการเร่งระบายสต็อคข้าวเก่าที่ราคาสูงโดยยอมขายราคาขาดทุน และทำให้ลูกค้าหลายรายนำราคาที่ได้นั้นมาต่อรองกับทางบริษัทฯ

ทั้งนี้ บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องลดราคาจำหน่ายแป้งให้ลูกค้าเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ทั้งที่ราคาตลาดที่ลดลงนั้นยังไม่ได้สะท้อนมาถึงต้นทุนในปัจจุบันนี้ จึงทำให้บางสัญญาต้องยอมขายในราคาที่ขาดทุน ส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 และลดลงอย่างมากในไตรมาส 3/2566 นี้

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงมีผลการดำเนินงานรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจในกลุ่มสินค้าเกษตรด้วยกัน และถึงแม้จะต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรงของราคาต้นทุน และราคาจำหน่ายแป้งจนทำให้ผลประกอบการกำไรลดลงก็ตาม แต่ TMILL ก็ยังคงยึดมั่นในการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นด้วยการประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ0.08 บาท (แปดสตางค์) รวมจ่ายเงินปันผลทั้งสิ้น 31,893,124.88 บาท โดยกำหนดการจ่ายเงินปันในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานตามกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าทางสังคม และสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยผนวกแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกับธุรกิจ ตามวิสัยทัศน์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินงานตามกลยุทธ์ในไตรมาส 3/2566 ดังนี้

โดยกลยุทธ์ที่ 1 การกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เติบโตอย่างยั่งยืนในไตรมาสนี้ บริษัทฯ ได้รับการประกาศว่าเป็นบริษัทที่ติดอันดับบริษัทจ่ายปันผลดีเด่นต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ปีซ้อน ซึ่ง TMILL ติดอันดับที่ 11 จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมินจากโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประจำปี 2566 (AGM Checklist) ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โดยในปีนี้ TMILL ได้รับคะแนนสูงสุด 100 คะแนนเต็ม หรือ “ระดับดีเยี่ยม” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความตั้งใจของบริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจโดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส ปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมกัน และส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน  และ TMILL จะรักษาและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นให้อยู่ในมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นในทุกปี

ส่วนผลการประเมินบริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการ บริษัทฯ ได้รับคะแนนระดับ 4 ดาว “ดีมาก” จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตอกย้ำศักยภาพการดำเนินงานของ บริษัทฯ ที่มุ่งดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลและเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ากิจกรรมพบนักลงทุนสัมพันธ์ในงาน Opportunity Day เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัทฯ แก่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักลงทุน และสื่อมวลชน อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสื่อสารข้อมูลฐานะทางการเงินของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง

สำหรับกลยุทธ์ที่ 2  ดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของพนักงาน สังคมและชุมชน  โดยบริษัทฯ ยังคงมีการฝึกอบรมให้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพให้แก่พนักงาน จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่

หลักสูตร Internal Audit  IQA (การตรวจติดตามภายใน) GHPs/HACCP/ISO22000/FSSC22000 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมระบบคุณภาพต่างๆ ของอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ มาตรฐานGHPs/HACCP/ISO22000

FSSC22000 ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดในห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ผู้ผลิตเบื้องต้นจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายว่าสามารถป้องกันอันตราย หรือสิ่งปนเปื้อนทางชีวภาพ เคมี และกายภาพของอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด เข้าร่วมจำนวน 34 คน

หลักสูตรการจัดการแมลงและสัตว์พาหะในสถานประกอบการ บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาสุขอนามัยและความสะอาดซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการแข่งขันสูง นับตั้งแต่ขั้นตอนการการผลิต กระบวนการต่าง ๆ ไปจนถึงกระบวนการขายให้แก่ผู้ลูกค้า จำเป็นจะต้องมั่นใจว่ากระบวนการต่างๆเหล่านี้ปราศจากการรบกวนของสัตว์รบกวนที่จะส่งผลกระทบไปถึงลูกค้า บริษัทฯ จึงได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาพนักงานผู้ปฏิบัติงานให้เรียนรู้การวางแผนในการควบคุม กำจัดสัตว์พาหะนำโรค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกขั้นตอน การจัดการกับความเสี่ยงในการพบเชื้อจุลินทรีย์ที่มาจากสัตว์พาหะ เช่น Salmonella spp รวมไปถึงการให้คำแนะนำแก่พนักงานต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น โดยมีพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด เข้าร่วมจำนวน 36 คน

หลักสูตรการควบคุมรถโฟล์คลิฟต์อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยการอบรมโฟล์คลิฟท์ เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากรถโฟล์คลิฟท์ มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายหรือจัดเรียงสินค้าที่มีน้ำหนักมาก รวมทั้งยังเป็นการป้องกันอันตรายและโรคที่อาจเกิดจากการทำงานให้แก่พนักงาน มีพนักงานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการขับรถโฟล์คลิฟต์ เข้าร่วมจำนวน 15 คน

ด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ความมั่นคงอาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (Safety, Security, Health and Environment Management System – SSHE MS) ในไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทฯ ยังคงรักษาสถิติการเกิดอุบัติเหตุให้เป็น 0 ได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2,364 วัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมถวายเทียนพรรษาร่วมกับชุมชนบริเวณโรงงาน ณ วัดปุณหังสนาวาส เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธภาพกับชุมชน และทอดผ้าป่าโรงเรียนปุณหังสนาวาส (รร.วัดสำโรงใต้) เพื่อสนับสนุนการจัดหาสื่อการเรียนรู้ และทุนเพื่อจ้างผู้สอน ให้แก่ โรงเรียนปุณหังสนาวาส จำนวน 10,000 บาท

นอกจากนี้ กลยุทธ์ที่ 3 ดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งในไตรมาสนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศเข้าร่วมโครงการแยกขยะ “ทิ้ง ทู แทรช” เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจ เล็งเห็นความสำคัญของการแยกขยะและสามารถแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง – ปลายทาง และสร้างความร่วมมือร่วมกันในองค์กรในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยจะเป็นจุดเชื่อมโยงการแยกขยะไปสู่ครัวเรือนของพนักงานและยังดำเนินงานลด

ก๊าซเรือนกระจกตามแผนงานและหาโอกาสจากการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและมองหาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ปฏิบัติการ

“ภายใต้สถานการณ์ของภาวะอุตสาหกรรมของตลาดข้าวสาลีและแป้งสาลีที่ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบผลประกอบการ แต่ก็ถือเป็นบททดสอบที่ท้าท้ายของฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ที่จะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน และมั่นใจว่าจะสามารถฝ่าฟันไปได้ในที่สุดเช่นเคย  พร้อมไม่หยุดนิ่งที่จะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ควบคู่กับการกำกับดูแลกิจการที่ดีพร้อมกับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นดังเช่นที่บริษัทฯ ได้กระทำมาอย่างต่อเนื่อง” นางแววตา กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button