ก.ล.ต. กำหนด “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” เพิ่มประสิทธิภาพกฎหมายซื้อขาย “สินทรัพย์ดิจิทัล”
ก.ล.ต. เดินหน้าใช้ “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล เผยที่ผ่านมาดำเนินการแล้ว 64 คดี
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจหลักของ ก.ล.ต. คือการดำเนินงานในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้พัฒนากระบวนการการดำเนินงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ (e-enforcement) อีกทั้งยึดมั่นในการดำเนินการทุกขั้นตอนตามกฎหมาย (Due Process of Law) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. มีความรอบคอบ รัดกุม เชื่อถือได้ และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
โดยหากมีเหตุสงสัยว่าอาจมีการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล โดย ก.ล.ต. มีขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้เพียงพอต่อการพิจารณา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแสดงพยานหลักฐานตามสิทธิอันพึงมี มีกระบวนการพิจารณาที่ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการดำเนินการและการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน ตามอำนาจหน้าที่และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีกระบวนการขั้นตอนที่ชัดเจนและโปร่งใส และมีการบันทึกความเห็นในทุกขั้นตอน รวมถึงรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ การกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามและดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด ก.ล.ต. มีช่องทางในการบังคับใช้กฎหมาย 3 ช่องทาง ได้แก่ การดำเนินการทางปกครอง การดำเนินการทางอาญา และการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง
สำหรับ “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เริ่มนำมาใช้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2559 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 และต่อมาได้มีการนำมาใช้บังคับกับพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็วมากขึ้น ในความผิดเกี่ยวกับกระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล (การสร้างราคา การใช้ข้อมูลภายใน/การเปิดเผยข้อมูลภายใน การบอกกล่าวข้อความเท็จ/การแพร่ข่าว) ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขาย การไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อ ก.ล.ต. พบการกระทำผิดและเห็นควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด ก.ล.ต. จะต้องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) พิจารณาว่าสมควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิดหรือไม่ โดยมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ปรับทางแพ่ง และชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล
รวมถึงห้ามเป็นกรรมการ หรือผู้ บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือ บริษัทหลักทรัพย์/ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดนับจากปลายปี 2559 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 31 ตุลาคม 2566) มีการดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่งแล้ว 64 คดี จำนวนผู้กระทำความผิดรวม 332 ราย สำหรับเงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด ที่ผู้กระทำผิดชำระแล้วนั้น ก.ล.ต. ได้นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน รวมเป็นเงินมากกว่า 1,719.82 ล้านบาท
ส่วนผู้กระทำความผิดที่ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. ได้ขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ
ทั้งนี้ มีคดีที่ถึงที่สุดแล้ว 5 คดี จำนวนเงินที่ศาลพิพากษายุติรวม 59.18 ล้านบาท โดยใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1-2 ปี นับตั้งแต่วันฟ้องคดี ซึ่งใช้เวลาลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินคดีอาญา โดยที่ผ่านมาการดำเนินคดีอาญาใช้เวลามากกว่า 2 ปีนับจากปีที่กล่าวโทษถึงปีที่คดีสิ้นสุด
นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ยังได้นำส่งการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อีกด้วย รวมทั้งหากเข้าข่ายการกระทำที่อาจผิดกฎหมายอื่น ก.ล.ต. มีกระบวนการในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป