TPCH จ่อเซ็น PPA เพิ่ม 1 โครงการปลายปี 66 ดันผลงานโตต่อเนื่อง
TPCH จับมือ “สยาม พาวเวอร์” ร่วมเปิดตัว “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SP” แห่งแรกที่ จ.นนทบุรี กำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ จ่อเซ็น PPA เพิ่ม 1 โครงการ ภายในปี 66 ดันผลงานในอนาคตโตแกร่ง
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานขยะสยาม พาวเวอร์ (SP) อย่างเป็นทางการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ และศูนย์การเรียนรู้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยซึ่งอยู่ที่ ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าฯ
โดยโรงไฟฟ้า SP เป็นกิจการร่วมค้าของ TPCH และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาได้เริ่มมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้านครหลวงขณะที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ เป็นที่เรียบร้อยและเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะมูลฝอยโรงที่ 1 ของ TPCH ที่ได้จ่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง
“สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ SP เป็นกิจการร่วมค้าที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 50% และนายทวี จงควินิต ถือหุ้นในสัดส่วน 50% อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งแรกของ TPCH ขณะเดียวกันได้เดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงขยะเพิ่มอีกประมาณ 7 โครงการภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ ขณะนี้เตรียมเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในปีนี้เพิ่มอีก 1 โครงการ ทั้งนี้บริษัทมั่นใจว่าจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนผลงานให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต” นางกนกทิพย์ กล่าว
นายทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (SP) เป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ เนื่องจากเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะฝังกลบแบบครบวงจร และได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงมาคัดแยกเชื้อเพลิงขยะจากหลุมฝังกลบเดิมของ อบจ.นนทบุรี เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วยเตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบดแบบหมุนเวียน (CFB)
อีกทั้งมีระบบบำบัดอากาศจากการเผาไหม้ (Flue Gas Treatment) และมีระบบควบคุมการบำบัดอากาศอย่างต่อเนื่อง (CEMs) ที่จะทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมงก่อนระบายออกสู่ปล่องระบายอากาศ พร้อมกับการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และนำเสนอสาระดีๆเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดการขยะจนนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยนำขยะจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยเดิมของ อบจ.นนทบุรี มาใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ภายในศูนย์ฯ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจขั้นตอนต่างๆ ของการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงไปจนถึงกระบวนการนำเชื้อเพลิงขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีการนำสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และยังสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานจริงของเครื่องจักร รวมถึงเจ้าหน้าที่ภายในอาคารได้แบบ 180 องศา อีกด้วย