ตลท. ย้ำ SET ทรุดไม่เกี่ยว “ชอร์ตเซล” เหตุ “ต่างชาติ” เทขายต่อเนื่อง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ และนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ย้ำ SET ปรับตัวลดลง สาเหตุจากนักลงทุนต่างชาติเทขายต่อเนื่อง 1.8 แสนล้านบาท ย้ำไม่เกี่ยวกับชอร์ตเซล มีการเฝ้าระวังตรวจสอบต่อเนื่อง ขณะที่พบว่านักลงทุนใช้โปรแกรมเทรดดิ้งถึง 40%


นางสาวภัทรวสี สุวรรณศร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการปฏิบัติการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า  ตลาดหลักทรัพย์พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลให้กับนักลงทุนผ่านทาง www.set.or.th/th โดยเฉพาะข้อมูลมูลค่าการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนแยกเป็น 2 ส่วน คือ SET และ mai โดยข้อมูลดังกล่าวมีการรายงานตลาดปิดระหว่างวัน รวมถึงรายงานตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงปัจจุบัน และตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับมีกราฟมูลค่าการซื้อขายสุทธิสะสมตามกลุ่มนักลงทุนย้อนหลัง 1 ปี กลุ่มสถาบันในประเทศ, บัญชีบริษัทหลักทรัพย์, นักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลของ NDVR โดยจะมีการกำหนดประเภทหลักทรัพย์ที่สามารถลงทุน และข้อมูล Overview ซึ่งมีข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนเท่าไร ซึ่งต่างชาติส่วนใหญ่จะซื้อผ่าน NDVR

ส่วนธุรกรรมขายชอร์ต (short selling) ทางนักลงทุนจะต้องไปยืมหลักทรัพย์มาก่อน ยืมแล้วถึงจะสามารถส่งคำสั่งขายได้ โดยมีกฎเกณฑ์จะต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งทุกสิ้นวันก็จะมีการสรุปซื้อขายว่าอยู่ที่ประมาณเท่าไร โดยมีการแสดงเป็นรายหลักทรัพย์ แต่ละหลักทรัพย์จะเห็นชื่อหลักทรัพย์ ทั้งนี้การทำธุรกรรมขายชอร์ตจะขึ้นอยู่กับนักลงทุนแต่ละประเภท

โดยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการขายชอร์ต (หุ้น) รวมถึงมูลค่าการขายชอร์ต (บาท) รวมถึง %  และปริมาณการขายชอร์ตเทียบกับปริมาณการซื้อขายแบบ Auto Matching ถ้าหากมีตัว -R แสดงว่าเป็นการขายชอร์ตแบบ NDVR

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังได้การรายงานข้อมูลซื้อขายจาก Program Trading เป็นรายวัน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้เพิ่มข้อมูลเข้ามาสำหรับนักลงทุน โดยที่แสดงให้เห็นว่ามีรูปแบบทั้งหมด 3 ส่วนคือ Program Trading, Non Program Trading และรวมทั้งหมด (Total) โดยจะมีการรายงานข้อมูลก่อน 19:00 น.ของทุกวันทำการซื้อขาย

ดังนั้น ยกตัวอย่างอ้างอิงข้อมูลสถิติตลาดวานนี้ (16 พ.ย.66) “โปรแกรมซื้อขาย” มูลค่าซื้อขายสูงถึง 17,634 ล้านบาท หรือ 39.78% ของมูลค่าการซื้อขายรวมรายวัน 44,321 ล้านบาท ทั้งหมดดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคน

ด้าน นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า โปรแกรมเทรดดิ้งมีหลายรูปแบบ อย่างโปรแกรมเทรดดิ้งนักลงทุนสถาบันใช้เป็นประจำและใช้มาอย่างยาวนาน ตัวอย่าง ถ้ามีการขายหุ้นหรือซื้อหุ้นลักษณะใหญ่ และมีจำนวนเยอะ แต่อาจจะไม่ได้ส่งคำสั่งครั้งเดียว ซึ่งอาจจะมีปัญหาการกระชากราคา ถ้าเมื่อไรวอลุ่มมาก็จะมีการเฉลี่ยวอลุ่มของตัวนั้นภายใน ณ วันนั้น โดยลักษณะทำเป็นออการิทึมมีมานานและมีกันทั่วโลก

ทั้งนี้จะส่งผลทำให้กระทบกับคนบางกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่ทุกกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มเทรดเก็งกำไรระยะสั้น เพราะคนซื้อขายหุ้นไม่สามารถคีย์ข้อมูลเร็วได้เท่าเครื่องโปรแกรมโรบอท อาจจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นช่วงบางเวลา บางจังหวะของตลาด โดยเงื่อนไขเดียวกันทุกตลาดในโลกนี้ ซึ่งโปรแกรมเทรดดิ้งจะมีกลไกแต่ละรูปแบบแตกต่างกันออกไป

“อย่างไรก็ตาม “โรบอทเทรดดิ้ง” มันฆ่าตลาดหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันมีนักลงทุนหลายประเภทและหลากหลาย ซึ่งมีตั้งแต่ถือหุ้นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ผสมกันหมด ซึ่งมีผลกระทบกับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม” นายพิเชษฐ กล่าว

นายพิเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “Program Trading” ในไทย มี 4 ประเภท 1) สำหรับนักลงทุนสถาบันที่จะเฉลี่ยคำสั่งซื้อตลอดทั้งวัน เพื่อไม่ให้เกิดการกระชากราคาจากปริมาณการซื้อขายจำนวนมาก ซึ่งนักลงทุนรายย่อยก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

2) สำหรับนักเก็งกำไรทางเทคนิค ที่จะตรวจจับสัญญาณทางเทคนิค และส่งคำสั่งซื้อขายอัตโนมัติ โดยจะสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่นได้ โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้งานจะเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเขียนโปรแกรมและทางเทคนิค

3) สำหรับผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ที่ต้องการประมวลผลอนุพันธ์หลายร้อยชุดพร้อมกัน

4) โปรแกรมซื้อขายด้วยความถี่สูง (HFT) ที่มีมูลค่าซื้อขายจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโปรแกรมดังกล่าว จะส่งผลกระทบกลุ่มนักเก็งกำไรรายวันหรือนักลงทุนระยะสั้นมาก โบรกเกอร์จะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลธุรกรรมในกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามนักลงทุนสามารถคาดการณ์ได้จากปริมาณการซื้อขายรวมและค่าธรรมเนียมที่มีการเพิ่มขึ้นของโบรกเกอร์นั้น

ขณะที่นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร กล่าวว่า มีการตรวจจับ Naked Short และทำจริง ซึ่งเป็นรูปแบบผิดกฎหมาย โดยจะมีการตรวจสอบทั้งวัน และจะเข้าไปตรวจสอบที่เป็นบริษัทสมาชิก ณ ตอนที่สั่งคำสั่งขาย จะต้องมีข้อมูลหุ้นเป็นหลักทรัพย์อะไร หากพบเข้าข่ายผิดกฎหมายทางตลท.จะมีการลงโทษกับทางสมาชิกอย่างแรก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์พิจารณา ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์ ถ้ามีสิ่งที่ต้องแก้ไขเราก็ควรต้องทำ ถ้าหากสถานการณ์เปลี่ยนไปเราเลยต้องปรับปรุงเกณฑ์ให้สอดคล้องกัน ซึ่งหน้าที่ของตลท.เป็นการซื้อขายอย่างโปร่งใส โดยข้อมูลต่างๆ เป็นข้อมูลที่เปิดเผยผ่านสาธารณะชัดเจน

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังยืนยันว่าจะสามารถติดตามพฤติกรรมเหล่านี้ได้จากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) หรือผู้ดูแลอื่นๆ สามารถให้ข้อมูล เพื่อยืนยันว่าการขายชอร์ตแต่ละครั้งเป็น “Naked Short” หรือไม่

ส่วน Program Trading ที่หลายคนมองว่าเป็นปัจจัยกดดันให้กดดันดัชนีหุ้นไทย อาจไม่เป็นความจริง เพราะหากพิจารณาจากกราฟปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีจะพบว่า นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน โดยมียอดขายสุทธิสะสมถึง 180,000 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยในประเทศซื้อสุทธิอยู่ที่ 113,900 ล้านบาท

Back to top button