BofA มองปี 67 ดัชนี S&P500 แตะ 5 พันจุด รับแนวโน้ม “ดอกเบี้ย” ลด

“แบงค์ ออฟ อเมริกา” ประเมินดัชนี S&P 500 ปี 67 โตอีก 10% มาที่ระดับ 5 พันจุด รับแนวโน้มปรับดอกเบี้ยลด ขณะที่กำไรต่อหุ้นของ S&P 500 จะเพิ่มขึ้นอีก 6% เป็น 235 ดอลลาร์ แม้ GPD สหรัฐชะลอ


แบงค์ ออฟ อเมริกา (BofA) หรือ BAC เผยแพร่บทวิเคราะห์ดัชนีหุ้น S&P 500 ของสหรัฐอเมริกาว่า ดัชนีจะซื้อและขายอยู่ที่ 5,000 จุด ภายในสิ้นปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากระดับปัจจุบันที่ 4,500 จุด โดย BofA ระบุว่า ในปีนี้ตลาดได้รับรู้ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ไปแล้ว ส่วนความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าจะช่วยหนุนดัชนี S&P 500 ให้สูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนส่วนชดเชยความเสี่ยง (Risk Premium) ในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีมีแนวโน้มจะลดลงอีก ในขณะที่บริษัทหลายแห่งต่างปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งบทวิเคราะห์ระบุว่าพัฒนาการในตลาดดังกล่าวจะเป็น “สวรรค์” สำหรับผู้ที่สามารถคัดเลือกเล่นหุ้นได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) มีผู้เล่นฝั่งตลาดหมี (Bear Market) หรือฝ่ายขายขาดความเชื่อมั่น เนื่องจากตลาดกระทิงหรือช่วงตลาดขาขึ้นนั้น มักจะจบลงด้วยการพุ่งขึ้นสูง ซึ่งในบทวิเคราะห์ระบุว่าสภาวะตลาดในตอนนี้ยังห่างไกลจากช่วงเวลานั้น

2) ผลสำรวจของฝ่ายวิเคราะห์ BofA ด้วยวิธีจากล่างขึ้นบน (Bottom-up Approach) พบว่า ตลาดอยู่ในสภาวะที่ดีตามคาดการณ์ แม้จะมีราคาที่ชะลอตัวลง แต่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยกับการเติบโตของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนที่ลดลง

3) BofA คาดการณ์ว่ากำไรต่อหุ้นของ S&P 500 ในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 235 ดอลลาร์ หรือ เพิ่มขึ้นอีก 6% เทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่า GDP ของสหรัฐฯ จะชะลอตัวก็ตาม

4) ปีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีผลดีต่อตลาดหุ้น โดยฝ่ายวิเคราะห์ระบุว่า ความผันผวนของตลาดอาจเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งคล้ายกับปีเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2563

5) ตั้งแต่ปี 2561 บริษัท สหรัฐฯ เริ่มถอนฐานการผลิตออกจากจีน และดึงกลับมาอยู่ในประเทศตน ซึ่งมักถูกอ้างถึงว่าเป็นอุปสรรคต่อบริษัทต่างๆ โดย BofA ตั้งข้อสังเกตว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้น กลับทำให้ผู้ผลิตในประเทศเหล่านี้ได้กำไรต่อหุ้น (EPS) มากขึ้น จากความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลงและความมั่นคงด้านพลังงานของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ สถานะสกุลเงินสำรองของดอลลาร์ยังช่วยให้สหรัฐฯ มีความสามารถในการจัดการกับการขาดดุลงบประมาณมากกว่าสกุลเงินจากภูมิภาคอื่นๆ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือ Gen-B ที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวมกันกว่า 80 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ที่จะมีการโอนความมั่งคั่งไปสู่คนรุ่นมิลเลนเนียล หรือ Gen-Y นั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ดังนั้น ฝ่ายวิเคราะห์จึงให้น้ำหนักหรือเพิ่มสัดส่วนการลงทุน (Overweight: O/W) ในหุ้นกลุ่มพลังงาน, สินค้าฟุ่มเฟือย, การเงิน และอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจาก BofA มองว่าบริษัทกลุ่มนี้มีราคาประเมินที่ต่ำ แต่สามารถฟื้นตัวได้ดี แม้ต้องเผชิญสภาวะกดดันในปัจจุบัน

Back to top button