หุ้นกลุ่ม “ปั๊มน้ำมัน” ส่อร่วง! ผวาพลังงานคุมค่าการตลาด
พลังงานเล่นไม่เลิก! ขู่ออกกฎหมายคุมค่าการตลาดขายปลีกน้ำมัน โดยเฉพาะเบนซิน หากเฉลี่ยแล้วยังสูงกว่า 2 บาทต่อลิตร ด้าน “ดิษทัต” ยัน ปัจจุบันค่าการตลาดเฉลี่ย 2 บาทต่อลิตรเท่านั้น ขณะที่โบรกฯ มองคุมค่าการกลั่นส่งผลลบต่อหุ้นปั๊มน้ำมัน OR หนักสุด แต่เกิดขึ้นยาก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า หลังจากที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันเบนซินของผู้ค้าที่สูงกว่าที่กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ให้ปรับลดราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และได้มีการศึกษามาแล้วว่าถึงแม้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากค่าแรง ค่าเช่า อัตราภาษีที่ดิน ตลอดจนค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ผู้ค้ายังควรต้องรักษาระดับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้บริโภค
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์การปรับขึ้น-ลงค่าการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าบางช่วงก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 บาท บางช่วงก็สูงกว่า 2 บาท แต่พบว่าค่าการตลาดน้ำมันเบนซินสูงเกินค่าที่เหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด 4.8 บาทต่อลิตร จึงขอให้ผู้ค้าร่วมมือไม่ให้ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินในภาพรวมสูงกว่า 2 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และหากมีความจำเป็น กระทรวงพลังงานจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการด้านกฎหมายในการเข้ากำกับดูแล
“ผมได้ขอให้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทั้งผู้ค้าน้ำมันและประชาชนผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาผู้ค้าน้ำมันจะมีการปรับขึ้น-ลงค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกชนิด ซึ่งบางช่วงก็ต่ำกว่า 2 บาท และบางช่วงก็สูงกว่า 2 บาท แต่ในช่วงนี้ค่าการตลาดสูงเกินไป” นายวัฒนพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน แต่อยากให้ผู้ค้าน้ำมันคำนึงถึงประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันในช่วงนี้ ดังนั้นหากยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน อาจจำเป็นต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์ในการใช้มาตรการด้านกฎหมายเข้ากำกับดูแล ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะสร้างสมดุลด้านราคา โดยเฉพาะค่าการตลาด ระหว่างผู้ค้าน้ำมันกับผู้บริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ค่าการตลาดคือส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
ด้านนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวก่อนหน้านี้ถึงกรณีค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและดีเซลที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสูงจนทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกแพงว่า ปัจจุบันค่าการตลาดน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลที่โออาร์ได้รับไม่ได้สูงตามที่ถูกวิจารณ์ ไม่ได้สูงถึง 3 บาทต่อลิตรตามข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ออกมา แต่ปัจจุบันโออาร์ได้เฉลี่ย 2 บาทต่อลิตรเท่านั้น
ส่วนสาเหตุที่ค่าการตลาดที่โออาร์ได้รับและสนพ.กำหนดต่างกันมาจากสูตรราคาที่ต่างกัน โดยโออาร์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากสูตรที่สนพ.กำหนด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะหมดไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ค่าการตลาดจะกลับมาเท่ากัน เพราะประเทศไทยจะบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่คุณภาพน้ำมันจะดีขึ้นเพราะเหลือระดับ 10 พีพีเอ็ม จากปัจจุบันระดับ 50 พีพีเอ็ม นอกจากนี้สนพ.อยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาเข้าพิจารณาต้นทุนค่าการตลาดใหม่คาดจะชัดเจนเดือน พ.ย.นี้
“ยืนยันว่าโออาร์ไม่ได้เอาเปรียบประชาชน ไม่คดโกง การปรับราคาขี้นลงได้หารือกับกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ทุกครั้ง อย่างข้อมูลสนพ.ที่แจ้งโครงสร้างราคาน้ำมันรายวัน น้ำมันเบนซิน ค่าการตลาด 3.20-3.30 บาทต่อลิตร แต่โออาร์ได้จริง 1.90-2 บาทต่อลิตร ส่วนต่าง 1.20-1.30 บาทต่อลิตร และเคยสูงสุดถึง 1.60 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีเซลค่าการตลาดโออาร์และสนพ.ใกล้เคียงกันอยู่ที่ระดับ 1.50 บาทต่อลิตร เพราะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีกำกับใกล้ชิด” นายดิษทัต กล่าว
ขณะที่นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่สนพ.ขู่ที่จะใช้กฎหมายเข้ามาคุมค่าการตลาด โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินของสถานีบริการน้ำมันนั้น ว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มปั๊มน้ำมัน ได้แก่ OR และ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เป็นต้น เนื่องจากมีสัดส่วนการจำหน่ายที่สูง โดยปัจจุบัน OR มีสัดส่วนจำหน่ายน้ำมันเบนซินที่ 40% ดีเซล ประมาณ 50% และอื่น ๆ อีกประมาณ 10% ส่วน PTG มีสัดส่วนจำหน่ายนำมันเบนซิน 30% และดีเซล 70%
สำหรับค่าการตลาดสำหรับน้ำมันเบนซิน ปัจจุบันอยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 บาทต่อลิตรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของหุ้นสถานีบริการน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะกระทบมากกระทบน้อยขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละราย หากมีโรงกลั่นเป็นของตัวเอง อย่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ก็อาจกระทบไม่มาก แต่มองว่าเรื่องดังกล่าวควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากราคาน้ำมันมีความผันผวนตลอดเวลา จะมากำหนดราคาคงที่ หรือ FIXED ที่ราคาขายปลีกก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก