“เศรษฐา” ย้ำชัด เดินหน้าใช้ดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นศก.ครั้งใหญ่
“เศรษฐา ทวีสิน” เดินหน้าขอกู้คืนศักดิ์ศรีคนไทยผ่านการขับเคลื่อนบนเวทีโลก หวังต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องการดึงนักลงทุนแง่ของการทูตเชิงรุกได้ พร้อมย้ำชัดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 พ.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM หัวข้อ “FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยในอนาคตแห่งความเปลี่ยนแปลง” เปิดเผยว่ากว่าทศวรรษที่ประเทศไทยสูญเสียโอกาสและตัวตนในเวทีโลกในการออกไปค้าขายเพื่อให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยด้วยปัญหาภายในประเทศ วันนี้รัฐบาลอยากเอาคืนศักดิ์ศรีของประเทศไทยกลับสู่เวทีโลก เพื่อให้คนไทยมีความภาคภูมิใจและต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องการดึงนักลงทุนแง่ของการทูตเชิงรุกได้
โดยประเทศไทยพร้อมแล้วในการที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีภาคเอกชนที่แข็งแรงและพร้อมชักชวนให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในประเทศ ผ่านนโยบายต่างๆ เพื่อเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของรัฐบาลที่จะช่วยยกระดับประชาชนและนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างสง่างามบนเวทีโลก
ทั้งนี้อย่างที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ดีมากนัก ซึ่งจะวิกฤตหรือไม่วิกฤตยังคงเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างตนเองกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่มั่นใจว่าทุกคนเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดี ทั้งนี้ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาได้ลดราคาน้ำมัน, ลดค่าไฟ และพักหนี้เกษตรกร ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่เราได้ทำและดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจากต่างประเทศวีซ่าฟรีจีน, อินเดีย, คาซัคสถาน และไต้หวัน แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะตัวเลขยังไม่ดีเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลก
ขณะที่การยกระดับรายได้ของประชาชนต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่จะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใสมีความชอบธรรมถูกต้องตามหลักนิติรัฐและมีที่มาที่ไป ซึ่งเป็นที่มาของการออก พ.ร.บ.เงินกู้
“โดยถ้า ครม.เห็นด้วย คือตัวแทนของ สส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนแสดงว่าพี่น้องประชาชนเห็นด้วย ถ้ากฤษฎีกาเห็นชอบก็ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ต้องผ่านสภา ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาที่ต้องลงรายละเอียด ให้รัฐบาลตอบทุกข้อให้ได้ ถ้ารัฐสภาผ่านความเห็นชอบก็ถือว่าเป็นนโยบายที่มีความชอบธรรมผ่านการตรวจสอบของทุกภาคส่วน ผมไม่อยากจะพูดต่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตได้ประโยชน์อย่างไรบ้างเพราะพูดไปหลายวิธีแล้ว ขอให้ขั้นตอนดำเนินไปอาจจะช้าบ้าง แต่ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความชอบธรรมโปร่งใส ตรวจสอบได้จากทุกภาคส่วน” นายเศรษฐา กล่าว
อีกทั้งรัฐบาลยังได้ยกให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ โดยวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และ 12 ธันวาคม 2566 รัฐบาลจะแถลงมาตรการแก้ไขหนี้เชื่อว่าจะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น พร้อมกันนั้น รัฐบาลก็ยังพยายามเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดทั้งน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง หากเราไม่บริหารจัดการให้เพียงพอจะเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ขณะที่ต้องมีการเตรียมน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ต้องการใช้น้ำอย่างมากจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องบริหารจัดการน้ำให้ได้เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี
ขณะเดียวกันรัฐบาลยืนตรงนี้ไม่อยากให้เป็นวาทะกรรมเฉยๆ ว่าอยากจะเพิ่มรายได้เกษตรกรแต่อยากจะมีขั้นตอนในทุกภาคส่วนในหลายพืชผล ที่รัฐบาลสามารถทำได้จริงหลังจากวาระของรัฐบาลชุดนี้จบลง เริ่มจากน้ำไม่ท่วมไม่แล้ง และเปิดตลาดใหม่ให้มีการค้าขายได้ ผมหวังว่ากลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะมีการแถลงใหญ่และมีขั้นตอนที่ชัดเจน
นอกจากนี้รัฐบาลก็ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลืองจีเอ็มโอ, ยางที่มีปัญหาจากสภาพดิน, และปัญหาหมูเถื่อน ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมายังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขเท่าที่ควร รัฐบาลชุดนี้พยายามที่จะแก้ไขปัญหา และยังมีเรื่องของยางพาราเถื่อนเข้ามาด้วย