อายัด 350 ล้านแค่ก้อนแรก! ปปง.เร่งตามทรัพย์ “แก๊งโกง STARK” คืนผู้เสียหาย
“ปปง.” เร่งยึดอายัดทรัพย์ “แก๊งโกง STARK” ชี้ 350 ล้านบาท เป็นแค่ก้อนแรก ยังพบอีกก้อนใหญ่ที่ “สิงคโปร์” พร้อมเร่งประสานหาวิธีนำเงินกลับมาเยียวยาผู้เสียหาย
นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวบนเวทีเสวนา “รวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค” จัดขึ้นวานนี้ (24 พ.ย.66) ณ โรงภาพยนตร์ Alisa AI ScreenX ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ว่า ขณะนี้ทีมงานยังมีการเร่งในการรวบรวมข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายทุกราย โดยกฎหมายของปปง.เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเพื่อนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมาคืนให้กับผู้เสียหาย
สำหรับในส่วนของการยึดอายัดทรัพย์จำนวน 350 ล้านบาทนั้นเป็นเพียงแค่ก้อนแรกหลังจากที่ ปปง.เข้ามาดำเนินการเท่านั้น ซึ่งขณะนี้พบทรัพย์สินอีกหนึ่งก้อนที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำลังหาวิธีการที่จะนำเงินก้อนดังกล่าวกลับมายังประเทศไทยและมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย โดย ปปง. ผ่านกระบวนการช่องทางการทูต และผ่านทางอัยการสูงสุด
ขณะเดียวกัน ปปง. ยังได้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาและบุคคลผู้เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อดูว่าเม็ดเงินจากการลงทุนของทุกท่านที่ถูกหลอกลวงได้มีการโอนไปที่ไหนบ้าง ใครเป็นผู้รับประโยชน์ทอดสุดท้ายซึ่งกระบวนการในการฟอกเงินนั้น เมื่อผู้กระทำความผิดได้เงินจากการกระทำความผิดไป ก็จะเอาไปสร้างธุรกรรมที่มีความยุ่งยากซับซ้อนเอาเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปชำระหนี้ที่มีอยู่จริง หรือหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งทาง ปปง.ต้องขอใช้เวลาในการตรวจสอบ
“การทำธุรกรรมดังกล่าวได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 63 ทำให้ตอนนี้เงินมันปะปนกันไปจนยากที่การติดตาม แต่ปปง.จะไม่ละความพยายามในการตรวจสอบ”นายปิยะ กล่าว
สำหรับผู้เสียหายจากการลงทุนในหุ้น STARK สามารถยื่นแบบคำร้องขอคืนทรัพย์สินซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดทั้งหมดได้ในราชกิจจานุเบกษา ที่คาดการณ์ว่าจะประกาศออกมาในวันที่ 29 พ.ย.นี้ โดยการขอคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งหมดจะเป็นการคืนตามอัตราเฉลี่ยที่เท่ากัน
ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ธ.ค.66 ทาง ปปง.เตรียมเข้าหารือกับทางธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เกี่ยวกับข้อมูลของผู้ลงทุน ซึ่งหากทางกฏหมายตีความว่ากสิกร เป็นผู้เสียหาย จะยิ่งง่ายกับทางผู้เสียหายที่ลงทุนผ่านกสิกร เนื่องจากมีแกนนำในการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายคืนให้
โดยมาตรการของ ปปง. จะมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ยึดทรัพย์มาคืนผู้เสียหาย และ 2.ดำเนินคดีกับคนที่นำทรัพย์สินไปโดยไม่สุจริต
“เราไม่ได้รู้ทุกเรื่องแต่พร้อมที่จะตรวจสอบถ้ามีพยานหลักฐานมีการชี้ช่องมีการให้แนวทางมาเราก็ทำให้เต็มที่ครับ”นายปิยะ กล่าว
สำหรับผู้เสียหายที่ยื่นแบบคำร้องขอคืนทรัพย์สินกับทางปปง. จะไม่ทับซ้อนสิทธิ์จากการยื่นฟ้องส่วนตัว เช่นเดียวกับผู้เสียหายที่ลงทุนผ่านทางKBANK และบล.เอเชีย พลัส เนื่องจาก ปปง. มีหลักเกณฑ์ในการคืนทรัพย์แค่ข้อเดียวคือ “ผู้เสียหายจะไม่ได้รับเงินคืนเกินความเสียหายของตน”
อย่างไรก็ตาม ปปง. มีพันธมิตรกว่า 130 ทั่วประเทศทั่วโลกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ และพร้อมที่จะเร่งรัดในการดำเนินการเพื่อเยียวยาผู้เสียหายทุกราย
ทั้งนี้ ประชาชนผู้เสียหายสามารถติดตามและร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม “กลุ่มรวมพลังสตาร์ค” ได้ที่ไลน์ @ThaiStark (https://lin.ee/LxasUep) หรือโทร 098-427-7151