“ส่งออกไทย” ต.ค.โต 8% ขยายตัว 3 เดือนติด

“พาณิชย์” โชว์ตัวเลขส่งออกเดือน ต.ค. 66 โต 8% ขยายตัว 3 เดือนติด ตามสินค้าเกษตรโตดี แย้มปลายสดใสต่อเนื่อง-ปี 67 โต 2%


นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนต.ค.66 พบว่า การส่งออกมี มูลค่า 23,578 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8% จากตลาดคาดราว 9.0-9.3% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,411 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้เดือนต.ค.ไทยขาดดุลการค้า 832 ล้านดอลลาร์

“การส่งออกเดือนต.ค. กลับมาขยายตัวถึง 8% มากกว่าที่หลายหน่วยงานประเมินไว้ และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3” นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

ขณะที่การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 66) มีมูลค่ารวม 236,648 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.7% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวม 243,313 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.6% ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 6,665 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่า การส่งออกของไทยในช่วง 2 ที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค.) จะยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ ส่งผลให้ทั้งปี 66 การส่งออกไทย จะติดลบเล็กน้อย ที่ราว -1%

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนต.ค.66 หากแยกพิจารณาเป็นรายกลุ่มสินค้า การส่งออกในทุกกลุ่มสินค้าสามารถขยายตัวได้ดี

โดยสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,152 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.3% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี เช่น ผลไม้สด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ข้าว, ไก่สด แช่เย็น-แช่แข็ง, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,788 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.9% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดี เช่น สิ่งปรุงรสอาหาร, ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, ผักกระป๋องและแปรรูป, อาหารสุนัขและแมว

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 18,393 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.4% พลิกกลับมาขยายตัว หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณี และเครื่องประดับ

นายกีรติ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนต.ค.นี้ หากเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค จะพบว่าการส่งออกของไทย ขยายตัวมากสุด ในขณะที่อีกหลายประเทศการส่งออกเริ่มกลับมาเป็นบวก เช่น สิงคโปร์, อินเดีย, เวียดนาม และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจและการค้าโลกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

“การส่งออกของไทยในเดือนต.ค.นี้ ขยายตัวมากกว่าที่คาดและมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน มีสัญญาณฟื้นตัวในหลายสินค้าสำคัญที่กลับมาเป็นบวก หรือหดตัวชะลอลง โดยมีแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ทยอยฟื้นตัวในช่วงเทศกาลปลายปี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกเริ่มลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มมีสัญญาณใกล้ยุติมาตรการคุมเข้มทางการเงิน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนเริ่มส่งผล โดยตัวเลขการบริโภค และการลงทุนของจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น สำหรับสถานการณ์อิสราเอล-ฮามาส ยังอยู่ในวงจำกัด จึงยังไม่กระทบต่อการส่งออกภาพรวม” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

สำหรับตลาดส่งออกของไทย ที่มูลค่าขยายตัวได้สูงสุด 10 อันอับแรกในเดือน ต.ค.นี้ ได้แก่ อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 135.1% อันดับ 2 กลุ่ม CIS ขยายตัว 77.2% อันดับ 3 ฮ่องกง ขยายตัว 31.3% อันดับ 4 ทวีปแอฟริกา ขยายตัว 24.5% อันดับ 5 แคนาดา ขยายตัว 16.7% อันดับ 6 อาเซียน (5) ขยายตัว 16.5% อันดับ 7 สหรัฐฯ ขยายตัว 13.8% อันดับ 8 ทวีปออสเตรเลีย ขยายตัว 13.7% อันดับ 9 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 8.6% และอันดับ 10 เอเชียใต้ ขยายตัว 7.2%

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ 1.การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลักดันการส่งออก 2.สินค้าเกษตรและอาหาร ยังคงช่วยหนุนให้การส่งออกขยายตัวได้ 3. ประเทศคู่ค้าเริ่มทยอยสั่งซื้อสินค้า เพื่อรองรับการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลปลายปี และ 4.สินค้าที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ยังขยายตัวได้สูง

นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับมาตรการขับเคลื่อนการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 66 นี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย

รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้ทำแผนเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อผลักดันการส่งออก โดยจะดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวม 73 กิจกรรม คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 12,400 ล้านบาท

โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนงานแสดงสินค้า China International Import Expo (CIIE 2023) ที่นครเซี่ยงไฮ้ การนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น Automechanika ที่ดูไบ American Film Market ที่สหรัฐฯ Anuga และ Medica ที่เยอรมนี รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์ม Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น เป็นต้น

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จะขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง สอดรับกับแรงกดดันด้านราคาที่ค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส ที่หากขยายวงกว้างอาจจะกระทบต่อราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้าโลกที่กำลังกลับมาฟื้นตัว พร้อมคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 67 จะขยายตัวได้ราว 2%

Back to top button