ก.ล.ต. ถกสมาคมโบรก ดึงความเชื่อมั่น “ตลาดทุนไทย” สางปมโรบอทเทรด-ชอร์ตเซล

ก.ล.ต หารือ ASCO จัดการประชุมผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อแลกเปลี่ยนควาคิดและแสวงหาแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทย เมื่อ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ในการแก้ปัญหาปมโรบอทเทรด-ชอร์ตเซล


นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการและผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ร่วมการประชุมกับสมาคม บริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) นำโดยนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคม พร้อมด้วยกรรมการและสมาชิกสมาคม ประกอบด้วยผู้บริหาร ผู้แทนจากผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ จำนวน 38 แห่ง ได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการดำเนินการในประเด็นที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย ทั้งการใช้ program trading/การซื้อขายด้วยความเร็วสูง รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย โดยทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีความเป็นธรรม โปร่งใสและเชื่อถือได้ ณ สำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยในที่ประชุมได้มีการหารือถึงสิ่งที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการแล้วและเรื่องที่อยู่ระหว่างการทบทวน เช่น การตรวจสอบธุรกรรม naked short selling และกลไกในการกำกับธุรกรรมขายชอร์ต การซื้อขายผ่าน program trading  อาทิ การวางหลักประกัน การส่งมอบหลักทรัพย์ เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์มีเสถียรภาพ เป็นธรรมและไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ลงทุนแต่ละประเภท

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังขอให้ ASCO ทบทวนแนวปฏิบัติสำหรับสมาชิกในธุรกรรมขายชอร์ตให้เข้ากับบริบทปัจจุบันและสอดคล้องตามข้อสังเกตของ ก.ล.ต. เพื่อทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าบริษัทหลักทรัพย์มีแนวปฏิบัติที่มีมาตรฐานเดียวกัน อันจะเป็นการป้องกันการกระทำที่ไม่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับการตรวจสอบของหน่วยงานกำกับต่อไป

อีกทั้ง ก.ล.ต. ได้ขอให้ ASCO พิจารณาการกำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการซื้อขายในอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ลงทุน สะท้อนการแข่งขันในเชิงคุณภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนกับอุตสาหกรรม

“ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนโดยรวม ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านจากบริษัทหลักทรัพย์ที่มีขนาดและลักษณะธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) เดียวกันในตลาดทุน จึงเห็นว่าการหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อทำงานร่วมกันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางของตลาดทุนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะนำทุกข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตไปกลั่นกรองและศึกษาต่อเพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ต่อไป และคาดหวังว่าจะมีการร่วมหารือกันเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง” นางพรอนงค์ กล่าว

Back to top button