JobsDB เปิดผลสำรวจแรงงานสาย Tech ชี้อำนาจต่อรองสูง
JobsDB เผยข้อมูลการสำรวจจาก “Global Talent Survey” แนวโน้มตลาดแรงงานสาย “เทคโนโลยี” มีความมั่นใจในการต่อรองการว่าจ้างสูง ส่งผลให้องค์กรควรมีเทคนิครับมือกับผู้สมัครเพื่อเติมเต็มตำแหน่งงานว่างงานให้ดีและเป็นประโยชน์ต่อองค์กร
นางสาวดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลสำรวจจาก “Global Talent Survey” ซึ่งเป็นการสำรวจผ่านเว็บไซต์และการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ Boston Consulting Group (BCG) และ The Network ในปี 2565 ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามเป็นผู้สมัครงานสาเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อาทิ ไอที สถาบันการเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค โทรคมนาคม เป็นต้น ทั้งหมด 6,228 คนจาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ไทย ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
นอกจากนี้ในภาพรวมของธุรกิจ บริษัทด้านเทคโนโลยีอาจมีการปลดพนักงานบ้าง แต่พนักงานสายเทคโนโลยียังเป็นกลุ่มที่ถูกจ้างงาน มีอำนาจการต่อรองในตลาดแรงงาน และเป็นบุคลากรที่องค์กรต้องการที่สุดในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ไทย ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ กว่า 81% ซึ่งได้รับข้อเสนองานหลายครั้งต่อปี จากผลสำรวจยังพบว่า 71% ของผู้สมัครงานสายเทคโนโลยีที่ร่วมทำแบบสำรวจ มั่นใจในอำนาจการต่อรองของตัวเอง และต้องการอาชีพที่มั่นคง สามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับงานได้ลงตัว ซึ่งตัวเลขจากแบบสำรวจมีความใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของผู้สมัครงานสายเทคโนโลยีทั่วโลก แต่ก็มีความแตกต่างเล็กน้อยตรงที่ผู้สมัครงานสายเทคโนโลยีที่ทำแบบสำรวจดังกล่าว มีความสนใจที่จะลองอาชีพใหม่ มีความต้องการเพิ่มทักษะ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลจากทั่วโลก และมีเพียง 18% ที่มีความสนใจต้องการกลับไปทำงานแบบเต็มเวลา ขณะที่ 64% ของผู้ทำแบบสำรวจมีความต้องการทำงานแบบไฮบริดมากกว่า
นางสาวดวงพร กล่าวว่า ผู้สมัครสายเทคโนโลยีในเอเชียยังให้ความสำคัญกับกระบวนการสรรหาบุคลากรเป็นอย่างมาก ผู้สมัครงาน 47% ปฏิเสธงาน แม้ข้อเสนองานน่าสนใจ แต่ถ้าได้รับประสบการณ์ด้านลบในระหว่างขั้นตอนการสรรหาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะปฏิเสธข้อเสนองานนั้น นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบผู้สมัครสายเทคโนโลยีกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก พบว่า เปิดกว้างที่จะได้รับข้อเสนอจากบริษัทจัดหาบุคลากร ส่วนน้อยที่ใช้คอนเนคชั่นส่วนตัวในการสมัครงาน และมีการใช้ความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มจัดหางานในการหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อผู้สมัครได้งานล่าสุดผ่านเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มจัดหางานใด ก็มักจะมีอิทธิพลในการรับข้อเสนองานจากแพลตฟอร์มเหล่านั้น และจะใช้ในการหางานต่อในอนาคต
ทั้งนี้ผู้ประกอบการหรือแผนกสรรหาบุคลากรขององค์กรที่ต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมสายงานเทคโนโลยี จำเป็นต้องรู้และเข้าใจความต้องการของผู้สมัครงานสายเทคโนโลยีอย่างมาก เพราะถ้าไม่เข้าใจก็จะเกิดผลกระทบ อาทิ ไม่สามารถรักษาบุคลากรที่มีอยู่ หรือเกิดความยากในการสรรหาบุคลากรใหม่ๆ ที่มีประสบการณ์สูงในสายงานนี้ มาเสริมศักยภาพให้กับกระบวนการทำงาน ด้วยสาเหตุจากผู้สมัครงานรู้ถึงอำนาจการต่อรองของตนเอง และรู้ว่าสายงานเทคโนโลยีเป็นสายงานที่มีความต้องการสูงของตลาดแรงงาน
โดยวิธีการดึงดูดผู้สมัครงานสายเทคโนโลยี หรือการรักษาบุคลากรสายนี้ให้อยู่กับองค์กร (Employee Retention) คือ สร้างความเชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางอาชีพในอุดมคติของผู้สมัครสายเทคโนโลยี อันดับ 1 คือ ต้องการงานที่มั่นคงและมีสมดุลในการใช้ชีวิตที่ดี อันดับ 2 คือการเติบโตไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น และอันดับ 3 คือ ต้องการมีโอกาสที่ได้ทำงานในผลิตภัณฑ์ โปรเจ็คหรือเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้น ถ้าผู้ประกอบการหรือองค์กรไหน มีข้อเสนอ 3 ข้อหลักนี้ ก็สามารถสร้างแรงดึงดูดต่อบุคลากรสายเทคโนโลยีได้แน่นอน
“นอกจากความก้าวหน้าทางอาชีพแล้ว สิ่งสำคัญที่ถูกนำมาพิจารณาในการทำงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือรับข้อเสนองานนั้นๆ คือ ค่าตอบแทน (เงินเดือน โบนัส) จากตัวเลขผู้ตอบแบบสอบถามกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกมีความใกล้เคียงกันมาก ค่าตอบแทนเป็นอันดับ 1 ที่ใช้เป็นเกณฑ์พิจารณา ตลอดจนวันลาและวันหยุด ในขณะเดียวกันหากผู้สมัครงานมีอายุและประสบการณ์การทำงาน จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ต่อผู้ร่วมงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าเล็กน้อย” นางสาวดวงพร กล่าว
นอกจากนี้สภาพแวดล้อมการทำงาน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างแรงดึงดูด บุคลากรสายงานเทคโนโลยีต้องการทำงานแบบไฮบริด (บางวันทำงานที่บ้าน บางวันทำงานที่สำนักงาน) มากกว่าทำงานที่สำนักงาน หรือทำงานทางไกล (Work from Anywhere) ) โดย 64% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการทำงานแบบไฮบริด ในขณะที่การทำงานที่สำนักงานกับทำงานทางไกล มีค่าเฉลี่ยเท่ากันที่ 18% ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของผู้สมัครสายงานเทคโนโลยีทั่วโลก ในเรื่องของเวลาการทำงาน 76% เห็นด้วยกับชั่วโมงการทำงานเต็มเวลา 5 วันต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ดีการดึงดูดผู้สมัครสายงานเทคโนโลยีนั้นสำคัญ แต่การรักษาบุคลากรไว้ได้สำหรับองค์กรก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อลดการลาออก ต้องเข้าใจถึงสาเหตุของการมองหาใหม่ของบุคลากรและวางแนวทางการบริหารบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สมัคร เช่น เงินเดือนหรือสวัสดิการที่มากกว่าเดิม โอกาสในก้าวหน้าทางอาชีพ ตำแหน่งงานที่น่าสนใจหรือระดับที่สูงกว่าเดิม ปรับนโยบายการทำงานจากที่เป็นทำงานเต็มเวลาในสำนักงาน เป็นการทำงานแบบไฮบริดก็จะเพิ่มความน่าสนใจต่องานมากขึ้น เป็นหนึ่งสิ่งที่ได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ เมื่อผู้สมัครเห็นประกาศงาน
อีกทั้งจากแบบสำรวจจะพบว่า ผู้สมัครสายเทคโนโลยีมีแรงจูงใจสูงกับความก้าวหน้าทางอาชีพ และการสร้างสมดุลชีวิตกับงาน ผู้สมัครจะใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้นหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มจัดหางาน เว็บไซต์บริษัท โซเชียลมีเดียต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาชีพ หรือ Search Engines ดังนั้นช่องทางเหล่านี้ ต้องมีข้อมูลสำคัญที่คาดว่าผู้สมัครงานอยากรู้ เช่น วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมบริษัท เป็นต้น ในขณะเดียวกันแม้จะเป็นผู้สมัครงานสายเทคโนโลยีก็ยังต้องการสัมภาษณ์โดยตรงกับหัวหน้างาน เพื่อประเมินความเหมาะสมของงานและเข้าใจทิศทาง วัฒนธรรม ค่านิยมของบริษัทมากกว่าสัมภาษณ์แบบออนไลน์
อนึ่ง สิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหรือองค์กรโดดเด่นสำหรับผู้สมัครงานสายเทคโนโลยี 65% ชื่นชอบกระบวนการสรรหาที่ราบรื่นและระยะเวลาที่เหมาะสม รองลงมาคือ บทสนทนาที่จริงใจ ไม่พยายามเสนอขาย ตอบกลับทันทีหลังขั้นตอนคัดเลือก พนักงานฝ่ายบุคคลที่มีความรับผิดชอบและมีความสามารถ และแสดงความสนใจต่อผู้สมัครหากผู้สมัครงานได้รับประสบการณ์เชิงลบ ถึงแม้ข้อเสนองานจะดีก็สามารถเลือกที่จะปฏิเสธได้
“วิธีเอาชนะใจผู้สมัครงานสายเทคโนโลยี ด้วยความมั่นใจว่าสายงานนี้มีความต้องการบุคลากรสูงควรเปิดโอกาสให้เสนอและต่อรอง เพราะผู้สมัครมักได้รับข้อเสนอจากบริษัทอื่น ข้อมูลเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ควรชัดเจน รวมถึงเนื้องานที่ต้องทำ การสร้างสถานที่ทำงานที่ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์เดิม ๆ เปิดใจให้ผู้สมัคร เนื่องจากปัจจุบันผู้สมัครสายเทคโนโลยีมักมีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยหลักสูตรออนไลน์ ไม่ควรตัดสิทธิ์ผู้สมัครเพียงเพราะขาดประสบการณ์หรือประวัติการศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้อง ควรตัดสินที่ความสามารถหรือจัดให้มีการทดสอบทักษะบางอย่างที่เกี่ยวข้อง สุดท้าย องค์กรอาจพัฒนาทักษะพนักงานในองค์กรก่อนสรรหาบุคลากรใหม่ การฝึกอบรมขององค์กรและการโยกย้ายภายใน จะเป็นการเติมเต็มตำแหน่งงานว่างในสายงานเทคโนโลยีที่ดี เป็นประโยชน์ต่อองค์กร” นางสาวดวงพร กล่าว