สรท. มองส่งออกปี 66 หดตัว 1.5-1% ลุ้นปีหน้าฟื้นโต 1-2%
สรท. คาดการณ์ส่งออกไทยปี 66 หดตัว 1.5-1% ก่อนกลับมาฟื้นตัว 1-2% ในปี 67 พร้อมระบุอาจมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว รวมถึงความขัดแย้งและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังทรงตัวระดับสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (12 ธ.ค. 66) นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกคาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 ว่าจะหดตัว 1.5-1% ขณะที่ปี 2567 คาดการณ์ส่งออกไทยจะเติบโตที่ 1-2% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 66 อาทิ
1.เศรษฐกิจทั่วโลกปี 66 ในภาพรวมเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้ และยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลัก
2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม่แน่นอน และกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม
3.อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวระดับสูง ส่งผลให้ชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมจะปรับลดลงบ้างแล้ว โดยคู่ค้าหลักยังคงมีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น สหรัฐ
4.ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังคงทรงตัวและมีแนวโน้มหดตัวในบางตลาดสำคัญ ส่งผลให้ภาคการผลิตตึงตัว จากดัชนีภาคการผลิตเคลื่อนไหวใกล้เส้น base line โดยเฉพาะสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม และ 5) ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะสำคัญ ประกอบด้วย
1.บริหารจัดการลดต้นทุนการผลิต เพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2.เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมายที่สำคัญ และเร่งการเจรจาการค้าเสรี (FTA) และความตกลงทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่น อาทิ Mini FTA ทั้งนี้ เพื่อสร้างแต้มต่อและลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดและแหล่งวัตถุดิบ ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดโลก และแสวงหาวัตถุดิบสำคัญได้มากขึ้น
นอกจากนี้ นายชัยชาญ กล่าวอีกว่าภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยช่วง 10 แรกเดือนปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม 2566) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 236,648.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,109,766 ล้านบาท หดตัว 2.6% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2566 หดตัว 0.6%) ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 243,313.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,439,268 ล้านบาท หดตัว 4.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทย 10 เดือน ขาดดุล 6,665 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 329,502 ล้านบาท